เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย
กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จ.เลย (คปพ.) ประกอบด้วย กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง
อ.วังสะพุง และกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ
ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย จำนวนกว่า 100
คน เดินทางมาชุมนุม
ทวงถามถึงความก้าวหน้าตามที่นายสมพงศ์
อรุณโรจน์ปัญญา
ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เคยรับปากเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประมาณ
3 เดือน
ว่าจะแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพภาวะประชาชน และทรัพยากรธรรมชาติ จ.เลย โดยเฉพาะกรณีการขยายพื้นที่เหมืองทองของบริษัททุ่งคำจำกัด
ที่ อ.วังสะพุง
ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก จากมลพิษทางอากาศ และทางน้ำ
ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ และตรวจพบสารไซยาไนด์ ตลอดจนสารโลหะหนักปะปนในเลือด และแหล่งน้ำสาธารณะเกินค่ามาตราฐาน
ทั้งนี้
กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเครื่องขยายเสียงมากล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของหน่วยงานราชการว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ใช้อำนาจเอื้อนายทุนตลอดมา พร้อมทั้งได้นำป้ายผ้าขาว ขนาดยาว หลายผืน ที่มีข้อความถ่ายทอดถึงความเดือดร้อนมาแสดงด้วย ขณะเดียวกัน
ยังได้แจกจ่ายแถลงการณ์แก่สื่อมวลชน
และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เข้ามาสังเกตการณ์ด้วย
แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุว่า เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จ.เลย (คปพ.) เป็นองค์กรภาคประชาชนที่มีบทบาทหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง สุขภาวะของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย
ได้เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายละเอียดของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเลย
และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สุขภาพอนามัย
รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่อนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 ที่หน้าศาลากลางจังหวัด ต่อหน้าตัวแทนพี่น้องประชาชน จาก 7 เครือข่าย รวมกว่า 300 คน
และต่อหน้าหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ
หลังรับการยื่นหนังสือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้รับปากกับชาวบ้านว่า
จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการการมีส่วนร่วม และขอเวลาศึกษาประเด็นปัญหา และจะให้คำตอบภายใน 90 วัน พร้อมกับบอกว่า ยินดีให้ตัวแทนประชาชน เข้าพบปะพูดคุยได้เป็นประจำ เพื่อให้ประเด็นทุกอย่างที่เกิดขึ้น สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
และถูกจุด สิ่งเหล่านี้แหละที่เรียกว่า “ใช่เลย”
แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า นับจากวันที่นายสมพงศ์รับปากกับประชาชน จนถึงวันนี้ (19 กรกฎาคม
2556)
เวลาได้ล่วงเลยผ่านมาแล้ว 571
วัน ตัวแทนเครือข่ายฯ
ยังไม่เคยได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงจากนายสมพงศ์
หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
ในขณะที่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนกลับทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษล้มป่วย
และเสียชีวิตหลายราย นอกจากนึ้ ผู้นำชุมชน และสื่อมวลชนถูกนายทุนฟ้องร้อง เป็นคดีความในศาลอีกหลายคดีด้วย
แกนนำชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า กรณีของเหมือทองทุ่งคำ
การประกอบการที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตลอดมา ในวันนี้ทางผู้ประกอบการกลับจะมาเปิดเวทีรับความคิดเห็นขออนุญาตเปิดประทานบัตรเหมืองแร่แปลงใหม่
ที่บริเวณภูเหล็ก แหล่งต้นน้ำ
แหล่งอาหาของชาวตำบลเขาหลวง
ขณะที่ปัญหาเก่ายังไม่ได้แก้ไข
อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรี 8 กุมภาพันธ์ 2554 ได้สั่งชะลอขั้นตอนการขอประทานบัตรแปลงใหม่เอาไว้ก่อน จนกว่าจะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
ร่วมกับผู้ประกอบการ ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว
ยังเดินหน้าเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้วครั้งหนึ่ง
เมื่อปลายปีที่แล้ว
ประชาชนที่ได้รับผลกระทบถูกปิดกั้น ไม่ให้เข้าร่วมเวที
โดยผู้ประกอบการนำเอาเจ้าหน้าที่ตำรวจ และคนงานของบริษัท ตลอดจน รถบรรทุกแร่มาปิดถนนไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีด้วย ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2556
นี้
ทางบริษัททุ่งคำก็จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง
กลุ่มชาวบ้านได้เตรียมพร้อมเข้าร่วมเวทีอยู่แล้ว หากถูกขัดขวางอีก ก็จะใช้มาตรการกดดัน
ฝ่าแนวด่านเข้าร่วมเวทีให้ได้ เพื่อแสดงออกตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ
หลังจากนั้น นายฐานิศร์
น้อยเพ็ง
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้เปิดห้องประชุมบนศาลากลาง
ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมชี้แจงถึงปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งนายฐานิศร์ รับปากว่า
จะส่งหนังสือทักท้วงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 สิงหาคม นี้ เพราะเห็นว่า
ควรจะดำเนินการในพื้นที่ขอประทานบัตร
ไม่ใช่มาทำที่ศาลาประชาคม จ.เลย
และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมเวทีด้วย ขณะเดียวกัน
ปัญหาความเดือดร้อนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
จะให้ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าประชาชนเจ็บป่วยจากการทำเหมืองทองคำ
ก็จะดำเนินการเยียวยา รักษาต่อไป
และจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสั่งปิดเหมืองทันที
เพราะถือว่าเป็นการทำผิดเงื่อนไขการขอประทานบัตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
หลังจากได้รับฟังความชี้แจงจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงความพอใจเล็กน้อย
ก่อนแยกย้าย เดินทางกันกลับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น