(บท.บก.ฉบับเดือน ก.ย.56)
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย 17 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 หนึ่งในนั้นมีรายชื่อของนายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ว่าราชการ จ.เลย รวมอยู่ด้วย โดยให้ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แต่ยังไม่มีมติแต่งตั้งผู้ว่าฯใหม่มาแทน ทำให้ตำแหน่งผู้ว่าฯเลยว่างลง
ต่อมา เกิดเหตุการณ์ปิดถนนชุมนุมประท้วงของเกษตรกรชาวสวนยางที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากผู้ชุมนุม เพราะเชื่อว่านายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นคนสั่งให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง ทำให้พ่อเมืองรายนี้ต้องขอย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ โดยเลือกมาอยู่ที่ จ.เลย ซึ่งเป็นไปตามมติครม.เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 พร้อมบัญชีรายชื่อโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ 23 จังหวัด ในฤดูกาลโยกย้ายประจำปี
จากเส้นทางการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของนายวิโรจน์ เป็นที่แน่ชัดว่าส่วนหนึ่งได้ดิบได้ดีจากการจงรักภักดีต่อพรรคเพื่อไทยอย่างสุดจิตสุดใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของข้าราชการประจำยุคปัจจุบันที่ต้องยอมสยบให้นักการเมือง หากแข็งขืน โอกาสที่จะรุ่งโรจน์ก็ตีบตันทันตา
ในการที่นายวิโรจน์ย้ายมาที่จังหวัดเลย ถิ่นเก่าสมัยวัยหนุ่ม จึงถือเป็นเรื่องดี เพราะรู้พื้นที่ และคุ้นเคยกับผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่แล้ว
แต่จังหวัดเลยในอดีต แตกต่างกับปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้มีการขยายตัวด้านเศษรฐกิจอย่างก้าวกระโดด จากเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยว และเป็นจังหวัดชายแดนรับการเปิดประชาคมอาเซียน มีนักลงทุนต่างถิ่นเดินทางเข้ามาทำธุรกิจมากมาย โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ผุดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาผู้ใหญ่ในจังหวัดดูเหมือนว่าจะยังคงสับสน ว่าจะเอาอุตสาหกรรมหรือการท่องเที่ยวดี
ร่วมเปิดหมู่บ้านเสื้อแดงต่อต้านยาเสพติด เมื่อครั้งเป็น ผวจ.กาฬสินธุ์ |
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์จังหวัดเลยที่เปรียบเสมือนหางเสือเรือ คอยควบคุม กำหนดไว้ชัดเจน ให้เป็นจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวทางธรรมชาติเป็นหลัก ส่วนรายได้จากการค้าชายแดนหรืออุตสาหกรรมรองลงมา
แต่ที่ผ่านมา พ่อเมืองคนก่อนกลับไม่นำพา สนใจกับยุทธศาสตร์จังหวัด เมินปัญหาการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรแร่ธาตุของกลุ่มนายทุน ที่พากันปักหลักสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การบุกรุกป่าไม้เพื่อปลูกยางพารา และที่สำคัญเกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านที่ออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ตัวเองตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้ไว้
ยกตัวอย่าง กรณีเหมืองทองคำที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง ที่สร้างปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพอย่างมาก จนเกิดแรงต้านจากชาวบ้าน พากันออกมาเดินขบวนประท้วงอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกลุ่มผู้บริหารเหมืองทองแห่งนี้ก็ล้วนมีแค่กลุ่มคนใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย หรือเรียกว่า “คนเสื้อแดง” ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน จะเอาอะไรก็เอาให้ได้ แม้จะทำผิดกฎหมาย เพราะถือว่ามีอำนาจอยู่ในมือ
เลยไทม์พลัสนิวส์จึงขอฝากไปถึงผู้ว่าฯคนใหม่ ท่านต้องเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชนมากขึ้น มองประชาชนเป็น “ประชาชน” ไม่ใช่เป็นศัตรู เหมือนภาพลบที่เคยเกิดขึ้นที่จ.นครศรีธรรมราช
หากท่านไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงใดๆ การบริหารงานก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ และจะไม่มีความสุขในการทำงาน เพราะจังหวัดเลย แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวปัญหาที่ท้าทายความสามารถ
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูจากรูปร่างหน้าตา บุคลิกแล้วเชื่อว่าท่านผู้ว่าฯวิโรจน์เป็นข้าราชการที่ดีของประชาชน ไม่ได้เป็น “ผู้ว่าฯเสื้อแดง” อย่างที่เขากล่าวหาแน่นอน..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น