สสจ.เลยจับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกระเบียบธุรกิจรับซื้อ-ขาย และขนส่งขี้ยางพาราเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย หลังถูกประชาชนร้องเรียนอื้อ เดือดร้อนกลิ่นเหม็น ทำถนนลื่นเกิดอุบัติ ทำลายบรรยากาศเมืองท่องเที่ยว วางมาตรการจุดทีี่ตั้งต้องห่างจากชุมชนไม่ต่ำกว่า 500 เมตร โกดังต้องปิดมิดชิด ทำระบบบำบัดน้ำเสีย รถขนขี้ยางห้ามทำน้ำหกเรี่ยราด ฝ่าฝืนไม่ต่อใบอนุญาต-สั่งปิดถาวร
ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจ.เลย (สสจ.เลย) นายกายสิทธิ์ แก้วยาศรี รองนายแพทย์ สสจ.เลย เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมพิจารณาข้อกำหนดเรื่อง “การควบคุมสถานประกอบกิจการและดำเนินกิจการรับซื้อ หรือสะสมยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย พ.ศ…..” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เกษตรกร และสื่อมวลชน
นางปณิศา อุทังบุญ หัวหน้างานอนามัยสิ่งแวดล้อม สสจ.เลย กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก จังหวัดเลย ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก ครอบคลุมทุกอำเภอ และมีแนวโน้มการปลูกเพิ่มขึ้นทุกๆปี โดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่มีการแปรรูปเป็นยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย แต่คนส่วนมากนิยมเรียกว่าขี้ยาง
หัวหน้างานอนามัยสิ่งแวดล้อม สสจ.เลย กล่าวอีกว่า การขายยางก้อนของเกษตรกรในจังหวัดเลย มี 2 ลักษณะ คือ ขายโดยวิธีประมูลตามจุดประมูล ที่ดำเนินการโดยสำนักงานสงเคราะห์กองทุนการทำสวนยาง (สกย.) หรือการรวมกลุ่มของเกษตรกร และขายให้แก่สถานประกอบกิจการรับซื้อยางก้อน หรือยางก้อนถ้วย ซึ่งสามารถขายได้ทุกวันจึงเป็นที่นิยมของเกษตร เนื่องจากไม่ต้องจัดหาสถานที่สะสมยางก้อนเพื่อรอจำหน่ายที่จุดประมูล ดังนั้นสถานประกอบกิจการรับซื้อยางก้อนจึงมีกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการปลูกยางพารา
จากการที่ผู้ประ กอบกิจการของสถานประกอบกิจการรับซื้อยางก้อนทุกวัน จึงมีการสะสมยางก้อนไว้ที่สถานประกอบกิจการเพื่อรอขนส่งไปจำหน่ายที่โรงงานครั้งละหลายตันเพื่อประหยัดต้นทุนในการขนส่ง ก่อให้เกิดเหตุรำคาญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการอันเนื่องมาจากกลิ่นเหม็นจากก้อนยางและน้ำเสีย นำไปสู่การร้องเรียนเกี่ยวกับเหตุรำคาญจากกลิ่นเหม็น โดยในปีงบประมาณ 2555-2556 สสจ.เลย ได้รับเรื่องร้องเรียนเนื่องจากกลิ่นเหม็นที่มีสาเหตุมาจากสถานประกอบกิจการรับซื้อ หรือสะสมยางก้อน จำนวน 15 ครั้ง ร้องเรียนไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย 1 ครั้ง และสื่อมวลชน 1 ครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สั่งปิดกิจการไปแล้ว 2 แห่ง
นางปณิศา อุทังบุญ |
นางปณิศา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการเพื่อระงับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากกิจการรับซื้อ สะสมยางก้อนนี้ถูกกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ออกตามความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 7 ว่าด้วยเรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ข้อ 5 (2) การล้าง การอบ การรม การสะสมยางดิบ แต่ยังไม่มีข้อกำหนดกับเกี่ยวกับสุขลักษณะของสถานที่ตั้งและการดำเนินกิจการ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2555-2556 สสจ.เลยโดยงานอนามัยสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาเหตุรำคาญจากการประกอบกิจการรับซื้อ สะสมยางก้อน โดยจัดทำสุขลักษณะของสถานที่ตั้งและการดำเนินกิจการรับซื้อ สะสมยางก้อน และข้อกำหนดท้องถิ่น เรื่องการควบคุมสถานประกอบกิจการและการดำเนินกิจการรับซื้อ หรือ สะสมยางก้อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าพนักงานท้องถิ่นใช้เป็นแนวทางในการตรวจ แนะนำเพื่อการออกใบอนุญาต และควบคุมกำกับการประกอบกิจการ เพื่อไม่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การประชุมในวันนี้เพื่อรับรองสุขลักษณะของสถานประกอบกิจการและข้อกำหนดท้องถิ่น ฯ ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการดำเนินการแก้ปัญหาของจ.เลยที่นำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ รวมทั้งเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้
สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดตั้งกิจการรับซื้อยางก้อนถ้วยที่กำหนด มีหลายประการ เช่น จะต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน และสถานที่สาธารณะอื่นๆ ที่มีประชาชนมาใช้บริการอย่างน้อย 500 เมตร จะต้องตั้งอยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีต้นไม้รอบสถานประกอบการ เพื่อช่วยดูดซับกลิ่น ลักษณะโรงเรือนต้องปิดมิดชิด จัดทำระบบบำบัดระบายน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก มีจุดจอดรถบรรทุกยางก้อนถ้วย มีจุดล้างทำความสะอาดรถ และต้องควบคุมไม่ให้น้ำยางก้อนถ้วยรั่วไหลจากรถลงพื้นถนน เป็นต้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น