วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พนักงานทุ่งคำกว่า 100 คน ยื่นหนังสือจี้จังหวัดเปิดทางเข้าเหมือง ครวญเสียหายวันละ 10 ล้าน


เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556  ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย พนักงานบริษัททุ่งคำจำกัด จำนวนประมาณ 100 คน  นำโดยนายสุรพงษ์ ลิมปัชโยภาส ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบริษัท และนายสราวุธ  สารวงษ์  หัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุง เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายภานุ  แย้มศรี  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ปิดทางเข้าเหมืองทองคำพร้อมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมด้วย

ในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่มีกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด” ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำจำกัด ซึ่งปรากฎอย่างชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านดังกล่าว ไม่ต้องการให้เกิดกระบวนการเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ยอมใช้กระบวนการหารือ ไม่ยอมรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ก่อกำแพงปิดทางเข้า-ออกบริษัททุ่งคำจำกัดอย่างถาวร  จนถึงปัจจุบันได้มาสร้างโครงหลังคาเหล็กคร่อมทางเข้า-ออก  ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายประมาณวันละ 10 ล้านบาท จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดๆของภาครัฐเข้ามาเอาใจใส่ดูแลแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม จึงต้องขอร้องเรียนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

นายสราวุธ  สารวงษ์  หัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุงเหมืองทองทุ่งคำ กล่าวว่า  ตามที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกล่าวหาว่าเหมืองทองทุ่งคำได้ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการปล่อยสารเคมีลงสู่ภายนอกเหมืองนั้น ตนขอชี้แจงว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดเหมืองมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน  เป็นระยะเวลา 7 ปี  ทางเหมืองไม่เคยปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่รอบเหมืองแต่อย่างใด  อีกทั้งพนักงานและชาวบ้านยังสามารถจับสัตว์น้ำที่อยู่ตามแหล่งน้ำบริเวณท้ายเหมืองและบริเวณรอบโครงการ ขณะเดียวกันยังสามารถขุดหาหน่อไม้ภายในเหมืองมารับประทานได้ตามปกติ โดยไม่มีอันตรายเกิดขึ้น

นายสารวุธกล่าวอีกว่า ผลการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน พบว่าเป็นปกติ ไม่มีสารพิษปนเปื้อนในเลือด ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556  ที่ศาลากลาง จ.เลย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สารพิษที่ตรวจพบในแหล่งน้ำธรรมชาติก่อนหน้านี้ ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมจากการทำเหมืองแร่ แต่เกิดจากสายแร่ที่เกิดขึ้นเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไม่ได้เกินเกณฑ์มาตรฐาน และสลายไปตามธรรมชาติ ส่วนการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ ได้มีศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่บริเวณโครงการเหมืองแร่ภูทับฟ้า พบว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  ดังนั้นการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำ อาจมาจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในพื้นที่รอบเหมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการยื่นหนังสือ นายภานุ แย้มศรี  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้รับข้อเสนอ และจะดำเนินการประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง สร้างความพอใจให้กับกลุ่มพนักงาน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงานตามปกติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น