เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย
พนักงานบริษัททุ่งคำจำกัด จำนวนประมาณ 100 คน นำโดยนายสุรพงษ์
ลิมปัชโยภาส ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบริษัท และนายสราวุธ สารวงษ์ หัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุง
เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายภานุ
แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย
ปิดทางเข้าเหมืองทองคำพร้อมได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมด้วย
ในหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า
ตามที่มีกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด”
ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการดำเนินธุรกิจเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำจำกัด
ซึ่งปรากฎอย่างชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวต่อต้านดังกล่าว
ไม่ต้องการให้เกิดกระบวนการเพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ไม่ยอมใช้กระบวนการหารือ ไม่ยอมรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ทั้งนี้
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้ก่อกำแพงปิดทางเข้า-ออกบริษัททุ่งคำจำกัดอย่างถาวร
จนถึงปัจจุบันได้มาสร้างโครงหลังคาเหล็กคร่อมทางเข้า-ออก ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายประมาณวันละ 10
ล้านบาท จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 44 ล้านบาท
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดๆของภาครัฐเข้ามาเอาใจใส่ดูแลแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
จึงต้องขอร้องเรียนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเลยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
นายสราวุธ สารวงษ์
หัวหน้าฝ่ายซ่อมบำรุงเหมืองทองทุ่งคำ กล่าวว่า
ตามที่กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดกล่าวหาว่าเหมืองทองทุ่งคำได้ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการปล่อยสารเคมีลงสู่ภายนอกเหมืองนั้น
ตนขอชี้แจงว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดเหมืองมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน
เป็นระยะเวลา 7 ปี
ทางเหมืองไม่เคยปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่รอบเหมืองแต่อย่างใด
อีกทั้งพนักงานและชาวบ้านยังสามารถจับสัตว์น้ำที่อยู่ตามแหล่งน้ำบริเวณท้ายเหมืองและบริเวณรอบโครงการ
ขณะเดียวกันยังสามารถขุดหาหน่อไม้ภายในเหมืองมารับประทานได้ตามปกติ
โดยไม่มีอันตรายเกิดขึ้น
นายสารวุธกล่าวอีกว่า
ผลการตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน พบว่าเป็นปกติ ไม่มีสารพิษปนเปื้อนในเลือด
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 ที่ศาลากลาง จ.เลย
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า
สารพิษที่ตรวจพบในแหล่งน้ำธรรมชาติก่อนหน้านี้
ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมจากการทำเหมืองแร่
แต่เกิดจากสายแร่ที่เกิดขึ้นเองอยู่แล้วตามธรรมชาติ ไม่ได้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
และสลายไปตามธรรมชาติ ส่วนการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ
ได้มีศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่บริเวณโครงการเหมืองแร่ภูทับฟ้า
พบว่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ดังนั้นการปนเปื้อนของสารเคมีในน้ำ อาจมาจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชในพื้นที่รอบเหมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
หลังการยื่นหนังสือ นายภานุ แย้มศรี
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ได้รับข้อเสนอ
และจะดำเนินการประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง
สร้างความพอใจให้กับกลุ่มพนักงาน ก่อนจะแยกย้ายกันไปทำงานตามปกติ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น