วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ภูเขาไฟดึกดำบรรพ์ อายุ 360 ล้านปีที่เมืองเลย


ข่าวเรือท่องเที่ยวที่ เกาหลีล่ม นักเรียนและนักท่องเที่ยวเสียชีวิตกว่า 300 คน นับว่าเป็นข่าวใหญ่สะเทือนโลกอีกครั้งหนึ่ง เป็นเรือที่นำนักเรียนไปทัศนศึกษาเรียนรู้ ภูเขาไฟที่เกาะเจจู เพราะนักเรียนเกาหลีเป็นผู้แสวงหาความรู้ ใฝ่เรียนในอันดับต้นๆ ของโลก

ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษาเยี่ยมชมที่เกาะเจจู ประเทศเกาหลี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซล ราว 200 กิโลเมตร เป็นแหล่องท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาหลี โดยมีปล่องภูเขาไฟที่เป็นจุดเด่น มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลี และชาวต่างชาติ เข้าชมเป็นจำนวนมาก สะท้อนการบริหารจัดการ ระบบการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้กับประเทศ และประชาชนได้เป็นอย่างดี


จังหวัดเลย เป็นจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน คนทั่วไปจะรู้จักเมืองเลยผ่านภูกระดึง ผีตาโขน พระธาตุศรีสองรัก และอำเภอเชียงคาน มีส่วนน้อยที่จะรู้จัก เมืองเลยด้านธรณีวิทยา โบราณคดี และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเลย มีหลายด้าน เช่นด้านโบราณคดี ก็มีการพบขวานหิน ภาพเขียนสีตามถ้ำเพิงผา และเครื่องมือเครื่องใช้แสดงร่องรอยการอาศัยของมนุษย์ ในพื้นที่จังหวัดเลยกว่า 2,000 ปี มีใบเสมาหิน สมัยทวารวดี ร่วมพันปี มีชุมชนโบราณ สำคัญเช่นเมืองซ้ายขาง ที่เจ้าเมืองได้เป็นกษัตรย์หลวงพระบางถึง 2 พระองค์ เมืองเชียงคานและเมืองด้านซ้ายเป็นต้น เชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ชายขอบของอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้างโบราณ

                
ด้านการพบภูเขาไฟ 360 ล้านปีที่เมืองเลย


การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของนายสมศักดิ์  โพธิสัตย์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 สรุปได้ว่า จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของนักธรณีวิทยา บริเวณด้านทิศเหนือ ของบ้านห้วยตาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย พบว่าบริเวณภูขี้เถ้า ซึ่งมีความสูง 867 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นขอบ ปากปล่องภูเขาไฟที่มีอายุ กว่า 360 ล้านปี (หน่วยงานธรณีวิทยา นับเป็นล้านปี) นับว่าเป็นแหล่งเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (อุดม  ถีติปริวัตร์ รักถิ่นไทเลย ม.ป.ป. หน้า 7 )


พื้นที่โดยรวมปากปล่องภูเขาไฟ กว้างประมาณ 3 กม. และยาว 3.5-4 กม. คือราว 10-12- ตารางกิโลเมตรหากเปรียบเทียบ ขนาดที่ใกล้เคียงกับ พื้นที่ของเทศบาลเมืองเลยในปัจจุบัน ดังภาพ


ภาพแสดงปากปล่องภูเขาไฟ 360 ล้านปี จากภาพถ่างทางอากาศ ที่มา www.google.earth
ผู้เขียน ในฐานะหัวหน้าหน่วย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดเลย ได้เดินทางเข้าสำรวจพื้นที่ภูเขาไฟดึกดำบรรพ์ ร่วมกับนายอุดม ถีติปริวัตร์ นักสำรวจแร่ นายลำพวง สุจิรมงคล นายก อบต.นาด้วง โดยมีนายเริงฤทธิ์  ไชยสิทธิ์ (ผู้ใหญ่ต๋อง) เป็นผู้นำทาง พร้อมคณะ อีก 7 คน นัดพบกันที่ บ้านหินใต้ อ้อมภูเขาไปเส้นทางบ้านสูบ ทางห้วยลาดใหญ่ ปีนขึ้นบริเวณภูโอ่งโล่ง หรือภูโล่งโอ่งเป็นภาษาถิ่นไทเลย หมายถึงภูเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุม (เพราะมีแร่ธาตุมากและแร่หิน) ได้พบร่องรอยบังเกอร์ (หลุมหลบภัย) และลานจอดเฮรีคอปเตอร์ ช่วงสมัยต่อสู้ทางการเมือง ในยุทธการ ภูขี้เถ้า พบการที่ชาวบ้าน คนงานบุกรุกแผ้วถาง บุกเบิกพื้นที่การเกษตร และปลุกยาง เป็นพื้นที่ ภูเขาลาดชันมาก ผู้เขียนพร้อมคณะ พบเครื่องมือหิน อายุกว่า 2,000 ปี บริเวณที่ตำรวจ ทหาร เก็บมาทำเป็นกำแพงบังเกอร์ โดยไม่รู้ว่าเป็นขวานหินโบราณหลายชิ้น คณะสำรวจทดลองใช้ค้อนเหล็กทุบพื้นหิน ปรากฏเป็นขี้เถ้าภูเขาไฟสีเหลืองข้น หนาประมาณ 1-2 นิ้ว อีกด้วย


ขณะเดินทางกลับ ได้เดินทางเข้าไปตรงปล่องภูเขาไฟ บริเวณห้วยสีโสม ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก พอเข้าไปประมาณ 100-200 เมตร ต้องหยุด เพราะพื้นลื่น และใกล้ค่ำ พบสภาพภายใน ปากปล่องภูเขาไฟ เป็นเนินหินขนาดใหญ่ สลับซับซ้อน ต้องอาศัยเส้นทางแคบๆ ที่ชาวบ้านใช้ในการทำการเกษตร เก็บหลักฐาน เครื่องมือหินหัดโหลน และสะเก็ดหินจากการกะเทาะ เครื่องมือหินลักษณะนี้ (บริเวณจังหวัดเลย-จังหวัดอุดรธานี) ดร.โสมสุดา  รัตนุ่น (กรมศิลปกร) ประเมินไว้ว่า อายุราว 2,000-2,400 ปี) อยู่ร่วมกับสมัยกับยุคเหล็ก (อุดม ถีติปริวัตร์,รักถิ่นไทยเลย,ม.ป.ป. หน้า 7 )


แหล่งธรณีวิทยา ปากปล่องภูเขาไฟดึกดำบรรพ์ อยู่ที่ไหน


บริเวณปากปล่องภูเขาไฟดึกดำบรรพ์ อายุ 360 ล้านปี อยู่ที่ไหน จะเข้าศึกษา เรียนรู้ได้อย่างไร ผู้เขียนขอเสนอข้อมูลเบื้องต้นโดยอาศัย แผนที่ประกอบคำอธิบายดังนี้

                1.บริเวณด้านทิศเหนือของบ้านโคกหินใต้ หมู่ 9 ต.นาดอกคำ อ.นาด้วง จ.เลย โดยเริ่มจากปากทางห้วยสีโสมครอบคลุมพื้นที่เกษตร ลึกเข้าไป 3 กิโลเมตร จะเป็นขอบภูเขาไฟ ด้านทิศเหนือ คือช่วงภูขี้เถ้า (สูง 867 เมตร) ภูผาสารท ภูโอ่งโล่ง ภูโล้น เป็นสำคัญ

                2.บริเวณทิศตะวันออก ของ ต.น้ำสวย อ.เมือง ใกล้อ่างเก็บน้ำห้วยเพา บริเวณภูขี้เถ้าเป็นขอบปากปล่องภูเขาไฟพอดี และเป็นจุที่สูงที่สุด

                3.บริเวณด้านทิศใต้ของ ตำบลชมเจริญ บริเวณภูโล่งโอ่ง เป็นกิ่งยาวของเทือกเขา

                4.บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตำบลห้วยบ่อซืน อ.ปากชม จ.เลย

                เพื่อความเข้าใจที่จัดเจน ต้องดูภาพมุมสูงของแผนที่

แผนที่ แสดงปากปล่องภูเขาไฟ มาตราส่วน 1:60,000

ที่มา สำนักงานโยธาธิการ และผังเมืองจังหวัดเลย
ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องภูเขาไฟ


เรื่องภูเขาไฟเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญของโลก ต่อการกำเนิดและการเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งในโลก และเราจำเป็นต้องเรียนรู้ดังนี้

                1.ปากปล่องภูเขาไฟที่เมืองเลย เกิดจากการที่ความร้อนในโลกดันให้ภูเขาระเบิด พ่นสิ่งต่างๆ รวมถึงแร่ธาตุ ออกมา เมื่อ 360 ล้านปีมาแล้ว

                2.การระเบิดก่อให้เกิดแหล่งแร่หลากหลายชนิดในพื้นที่จังหวัดเลย เช่น แร่เหล็ก แร่ทองแดง แร่ทองคำ แร่แบไรท์ แร่เงิน แร่สังกะสี ฯลฯ กระจายโดยทั่วไป จนมีการหาแร่ ถลุงแร่ ทำเหมืองแร่ ในเวลา ต่อมา

                3.ภูเขาไฟก่อให้เกิด แหล่งน้ำ ลำห้วย ลำน้ำ หลากหลาย เช่นห้วยชม (หรือปากน้ำชม) ห้วยลาย ห้วยปลาดุก ห้วยน้ำสวย ห้วยสีโสม ห้วยไคร้

                4.แม่น้ำอุดมสมบูรณ์ ย่อมก่อให้เกิดทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ด้วย

ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัย ให้มนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้อาศัย เป็นปัจจัย การดำรงชีพต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


ภูเขาไฟกับการอนุรักษ์และพัฒนา


ผู้เขียนหวังไว้ว่า ข้อมูลเรื่องปากปล่องภูเขาไฟดึกดำบรรพ์ อายุ 360 ล้านปีนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และกรมการจังหวัดเลย หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของแหล่งธรณีวิทยา แห่งนี้ เผื่อจังหวัดเลยจะได้นำองค์ความรู้เหล่านี้ไปจัดกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนได้รู้และเข้าใจ อันเป็นการปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมช่วยกัน ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติโดยเร็ว เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลาย เข้าครอบครอง เป็นสิทธิ์เฉพาะตนภูเขาไฟดึกดำบรรพ แห่งนี้ครวเป็นสมบัติของไทเลย (ชาวเลย) ทั้งมวล รวมทั้งสมบัติของมนุษย์ชาติเพื่อจะได้พัฒนาสู้การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในลักษณะพิพิธภัณฑ์เปิดที่แทบไม่ต้องอาศัยการลงทุนใดๆ ก็สมบูรณ์แล้ว


สรุป


ผู้เขียนเชื่อว่า หากนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ประชาชน ผู้คนในเมืองเลย หรือไทเลย ทุกหมู่เหล่าสนใจ จะอนุรักษ์และพัฒนาภูเขาไฟดึกดำบรรพ์แห่งนี้ และลงมือปฏิบัติการอย่างมีเป้าหมาย มีความมุ่งมั่น และจริงจัง ก็คงจะประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน


นั้นก็คือ ภูเขาไฟดึกดำบรรพ์อายุ 360 ล้านปี ที่หลับใหลไปนานจะเป็นภูเขาไฟที่ฟื้นคืนชีพ กลับมาสร้างจิตสำนึกของผู้คนสร้างเศรษฐกิจ และสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและนิเวศวิทยาที่ยั่งยืน ให้อยู่คู่กับแผ่นดินจังหวัดเลยตลอดไป.

                 
อ.กฤษฎิ์ชัย  ชลพัชร์สิทธิกุล

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ8 กรกฎาคม 2557 เวลา 23:23

    ขอบคุณผู้เขียนที่นำเสนอข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน อยากปกป้องแหล่งการเรียนรู้ทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์จากการสู้รบในอดีตเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว แห่งนี้ ก่อนที่นายทุนจะมาขุดแร่ ถลุงแร่ และสร้างปัญหาด้านคุณภาพชีวิตให้กับคนในตำบลน้ำสวยและตำบลนาดอกคำ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ15 กันยายน 2557 เวลา 19:37

    มันจะแตดใหม?

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ12 มีนาคม 2566 เวลา 18:19

    ออจิบุมฟินขึ้นสวรรค์

    ตอบลบ