วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ชาวบ้านเฮ “ทุ่งคำ” ยงธงขาว ยอมปิดเหมือง



ผบ.จทบ.เลย นำผู้ว่าฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเวทีเจรจายุติปัญหาความขัดแย้งปัญหาเหมืองทองระหว่างชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง  ผู้บริหารบริษัททุ่งคำยอมยกธงขาว เตรียมรื้อถอนเครื่องจักรออกไปตั้งต่างจังหวัด  พร้อมขอขนแร่ที่เหลือออกทั้งหมด  ชาวบ้านพอใจ  ยื่นข้อเรียกร้องให้ถอนฟ้องคดี  ตั้งกองทุนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม  2557  ที่วัดศรีสะอาด  บ้านห้วยผุก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย  พล.ต.วรทัต  สุพัฒนานนท์  ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย  ในฐานะผู้บังคับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย พร้อมด้วยนายวิโรจน์  จิวะรังสรรค์  ผู้ว่าราชการจังหวัด   นายยิ่งยศ ธนะจันทร์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  นายายธนวัฒน์ พลอยโสภณ   รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  พล.ต.ต.ศักดา  วงศ์ศิริยานนท์  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย  นายบรรพต  ยาฟอง  นายอำเภอวังสะพุง  และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  เปิดการประชุมแก้ปัญหาจากการประกอบการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง  โดยมีผู้ใหญ่บ้านตัวแทนชาวบ้าน  และชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน รอบเหมืองทอง  พร้อมด้วยนายนายวิชัย  เชิดชีวศาสตร์  กรรมการบริษัททุ่งคำจำกัด  และคณะเข้าร่วมประชุม  ท่ามกลางการรักษาความสงบของกำลังเจ้าที่ทหาร ตำรวจ และ อส.กว่า 40 นาย 

การประชุมครั้งนี้ สืบเนื่องจากกองทัพภาคที่ 2 ได้มอบหมายให้กองกำลังสุรศักดิ์มนตรี และจังหวัดทหารบกเลยเข้ามาคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างบริษัททุ่งคำจำกัด กับชาวบ้านรอบเหมืองทอง โดยได้เปิดการประชุมเจรจาครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557  ซี่งชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอให้บริษัทหยุดดำเนินการเหมืองแร่ทองคำ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และเยียวยาด้านสุขภาพของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ  รวมทั้งเรียกร้องให้ทางบริษัทถอนฟ้องคดีความทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปิดทางเข้า-ออกเหมืองตั้งแต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย  โดยการประชุมในครั้งนี้ได้นำข้อเสนอดังกล่าวมาเจรจากับผู้ประกอบการ  โดยมีส่วนราชการเป็นตัวกลาง

นายวิชัย  เชิดชีวศาสตร์  กรรมการบริษัททุ่งคำจำกัด  กล่าวว่า  ทางบริษัทยินดีดำเนินการตามข้อเสนอของชาวบ้าน  แต่การจะปิดกิจการนั้นต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายด้วย  การที่จะให้บริษัทดำเนินการปิดเหมืองตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั้น  หน่วยงานราชการต้องเข้ามาลงนามรับรองด้วย  เพราะบริษัททุ่งคำ เป็นบริษัทลูกของบริษัททุ่งคาฮาเบอร์ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ หรือคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน  และกระทรวงการคลังร่วมถือหุ้นด้วย หากปิดเหมืองไปแล้ว เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศไทยในด้านการลงทุนจากต่างชาติ  ซึ่งปัจจุบันนี้ทางบริษัทก็ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้อยู่แล้ว  แต่หากจะให้ปิดถาวรทางบริษัทก็มีกำหนดตามเงื่อนไขประทานบัตรอยู่แล้วว่าจะเดินเครื่องผลิตไปอีก 10-12 ปี  อย่างไรก็ตาม  เมื่อการเจรจามาถึงขั้นนี้แล้ว  ทางบริษัทยินดีปิดทำการชั่วคราว โดยในระหว่างนี้ต้องขอเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักรย้ายออกไปตั้งที่จังหวัดอื่น  และเข้าไปบำรุงรักษาบ่อเก็บกากแร่ เพราะเกรงว่าหากชำรุด อาจเกิดรอยรั่ว  แต่ทางบริษัทขอขนสินแร่ที่เหลือออกจากเหมืองทั้งหมด

ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลยกล่าวว่า   การเจรจาได้ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ ถือว่าน่าพอใจอย่างยิ่ง ทุกฝ่ายกำลังจะยุติปัญหาร่วมกัน  แต่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ตามความต้องการเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้  หลังจากนี้ตนพร้อมคณะจะได้สรุปรวบรวมความต้องการของชาวบ้านเพื่อนำเสนอให้ผู้ประกอบการได้รับทราบ  แล้วนัดมาทำข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ภายหลังการเจรจา บรรยากาศในศาลาวัดได้ลดความตึงเครียดลง  ชาวบ้านพอใจต่อท่าทีของบริษัททุ่งคำ  และยินดีจะนำแรงงานเข้าไปช่วยรื้อถอนเครื่องจักรภายในเหมืองด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น