การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ ทางเลือก 2 สาย แนวโน้มสายชัยภูมิ-หนองบัวฯ ปลายทางเลย
เป็นไปได้สูงกว่าเส้นทางเพชรบูรณ์
เหตุใช้งบฯน้อยกว่า คาดเริ่มก่อสร้างได้ปี 2562 แล้วเสร็จปี 2567
ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรมใบบุญเพลส
จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 21 เมษายน
2558 นายยิ่งยศ ธนะจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับจังหวัด
(การประชุมใหญ่)
ของงานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างทางรถไฟ
สายจัตุรัส-ชัยภูมิ-เลย-หนองบัวลำภู หรือ ลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู
เพื่อนำเสนอแนวเส้นทางที่เหมาะสม ตำแหน่งของสถานี รูปแบบเบื้องต้น
ตลอดจนมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น
พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน
สถาบันการศึกษาและภาคประชาชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน
การสัมมนาครั้งนี้
ได้นำเสนอผลการศึกษาแนวเส้นทางที่เหมาะสม สำหรับนำมาพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่
โดยขั้นตอนแรกได้พิจารณาแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมของแต่ละสายทาง
โดยใช้ปัจจัยหลัก 3 ด้านในการพิจารณา ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรมและจราจร
ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลที่ได้คือ
สายทางจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย ได้แนวเส้นทางที่เหมาะสมผ่านพื้นที่ 4
จังหวัด 15 อำเภอ โดยมีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่สถานีรถไฟจัตุรัส อ.จัตุรัส ผ่าน
อ.บ้านเขว้า อ.เมือง เข้าสู่ อ.คอนสวรรค์ อ.แก้งคร้อ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ
ก่อนเข้าสู่ อ.ชุมแพ และ อ.สีชมพู
จ.ขอนแก่น จากนั้นตัดผ่าน อ.ศรีบุญเรือง อ.เมืองหนองบัวลำภู อ.นากลาง และ
อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู เข้าสู่ อ.เอราวัณ อ.วังสะพุง สิ้นสุดแนวเส้นทางที่ อ.เมืองเลย
จ.เลย รวมจำนวนสถานี 30 สถานี และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (Container
Yard) จำนวน 6 แห่ง ระยะทางทั้งสิ้น 333 กิโลเมตร
สายทางลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู
ได้แนวเส้นทางที่เหมาะสมผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 13 อำเภอ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่สถานีรถไฟลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
มุ่งหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือสู่ อ.ศรีเทพ อ.วิเชียรบุรี ผ่าน อ.บึงสามพัน อ.หนองไผ่ เข้าสู่
อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หล่มสัก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ผ่านเข้าสู่ อ.ภูหลวง
อ.วังสะพุง อ.เมืองเลย อ.นาด้วง จ.เลย จากนั้น ลัดเลาะไปตามไหล่เขาและมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้า
อ.นาวัง อ.นากลาง และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่
อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู รวมจำนวนสถานี 35 สถานี
และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard) จำนวน
6 แห่ง ระยะทางทั้งสิ้น 392 กิโลเมตร
จากนั้น
ได้ทำการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของในการพัฒนาของสองแนวเส้นทางโดยใช้ปัจจัยหลัก 3
ด้าน ดังกล่าวข้างต้น พบว่า
แนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่สู่ภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือตอนล่างที่จะนำมาพัฒนาเป็นลำดับแรก
ได้แก่ สายทางจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic
Internal Rate of Return: EIRR) ร้อยละ 9.74
มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 93,467 ล้านบาท สำหรับแนวเส้นทางสายลำนารายณ์–เพชรบูรณ์–เลย–หนองบัวลำภู
มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR). ร้อยละ
8.30 มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 138,002
ล้านบาท ควรได้รับการพัฒนาทางรถไฟทางคู่ในภูมิภาคนี้เป็นลำดับถัดไป
นายวรรณนพ
ไพศาลพงศ์
รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รฟท. กล่าวว่า
การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้จะช่วยเพิ่มเสริมศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายอีสานซึ่งจะสามารถเชื่อมระบบรางไปยังภาคกลาง
ภาคเหนือ และจังหวัดอื่น
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และเมื่อทางรถไฟผ่านสถานีเมืองเลยจะสามารถใช้เส้นทางถนนเลย – ท่าลี่
เดินทางต่อไปยังประเทศลาวโดยผ่านพรมแดนบ้านนากระเซ็ง อ.ท่าลี่
ข้ามสะพานมิตรภาพน้ำเหืองเข้าสู่แขวงไชยบุรี และสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงพระบาง
ระยะทางเพียง 343 กิโลเมตรและสามารถเดินทางต่อไปยังประเทศจีน ระยะทาง 267 กิโลเมตร นอกจากนี้ การพัฒนารถไฟสายใหม่
จะช่วยส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นทางเลือกในการคมนาคมขนส่งสินค้าที่ประหยัดพลังงาน ค่าใช้จ่าย
และมีความปลอดภัยสูง
รองวิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
รฟท. กล่าวอีกว่า
หากผลการศึกษาได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว
คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2562 หรือ 2553 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4
ปี และเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการในปี 2567.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น