วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ชาวสวนยางฯเลยปลุกกระแสเลิกอุดหนุนมิชลิน-บริดจสโตน หลังถูกแบน ปธ.สภาอุตสาหกรรมเลยเชื่อฉุดราคาต่ำ-ซ้ำเติมเกษตรกร



จากกรณีที่ผู้ผลิตยางรถยนต์สองรายใหญ่ของโลกคือ มิชลินและบริดจสโตนได้ประกาศไม่รับซื้อยางพาราจากพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย เนื่องจากพบว่ากว่าร้อยละ 80% ของพื้นที่มีการใช้กรดซัลฟิวริกใส่ในน้ำยาง เพื่อให้น้ำยางเซทตัวเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องถึงคุณภาพและอายุการใช้งานของยางล้อรถยนต์สั้นลง นอกจากนี้กรดดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่ออายุต้นยาง จากเดิมที่มีอายุการกรีดนาน 30 ปี เหลือแค่ 15 ปีเท่านั้น  ขณะเดียวกันยังตัดสินใจยุติแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทในภาคอีสานด้วยนั้น

นายวชิรวิญช์  สกุลดีโชติวัฒน์  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย และเป็นผู้ประกอบการรับซื้อ-ขายยางพารารายใหญ่ของจังหวัดเลย เห็นว่า  กรณีนี้มีผลกระทบด้านราคาที่อาจปรับลดต่ำลงแน่นอน เพราะผลผลิตยางก้อนถ้วยซึ่งปกติก็มีราคาต่ำอยู่แล้ว จะยิ่งถูกตอกย้ำให้ตกต่ำลงอีก  อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมาคือสังคมและเศรษฐกิจ อาทิ รายได้  การลดพื้นที่ปลูก  หนี้สินของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นด้วย  อย่างไรก็ตามผลผลิตยางของเกษตรกรจะยังขายได้ต่อไป เพราะยางก้อนถ้วยมีการนำไปทำผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่ยางล้อรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกร และผู้รับซื้อต้องปรับตัวตามความต้องการของลูกค้และถือเป็นโอกาสในการพัฒนาส่งเสริมให้เกษตรกรกลับทำยางแผ่นในบ้านจังหวัดเลยอีกครั้ง  ผลต่อภาพลักษณ์วัตถุดิบของไทยไม่มีคุณภาพ ปกติคู่ค้าจะไม่แสดงท่าทีเช่นนี้  ตามขั้นตอนของในระดับสากลต้องขอให้มีการทบทวนข้อตกลง และทำความเข้าใจกันก่อน  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลยกล่าว

นายวชิรวิญช์  สกุลดีโชติวัฒน์  ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เลย

ด้านปฏิกิริยาในโซเชี่ยลมีเดีย หลังข่าวนี้ได้เผยแพร่ออกไป เกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดเลยส่วนใหญ่มีท่าทีตัดพ้อ ว่าขณะนี้ราคาก็ตกต่ำอยู่แล้ว ยังถูกซ้ำเติมอีก และบางส่วนได้ชักชวนให้ชาวอีสานงดซื้อยางรถยนต์สองยี่ห้อนี้เพื่อเป็นการตอบโต้ด้วย

สำหรับ การซื้อขาย-ยางก้อนถ้วยในพื้นที่จังหวัดเลย หลังมีกระแสข่าวดังกล่าวออกมา ยังคงเป็นไปตามปกติ  ราคาที่ร้านรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 21.50 – 22.50 บาท


ทั้งนี้  ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเลยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2559  มีพื้นที่ปลูกรวมทั้งจังหวัดอยู่ที่ 795,865 ไร่ มีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 40,765 ราย  เปิดกรีดให้ผลผลิตแล้ว 386,452  ไร่  ผลผลิตเฉลี่ย 223 กิโลกรัมต่อไร่  รวมมูลค่าผลผลิตที่ได้ 5,780 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอันดับสองของภาคอีสานรองจากจังหวัดบึงกาฬ. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น