วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คู่รักทิ้งงานประจำกรุงเทพฯ กลับบ้านนาปอ อ.นาแห้ว ยึดเกษตรพอเพียงตามในหลวง พลิกไร่ข้าวโพดกลายเป็นป่ากินได้


ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย ได้พากันตัดสินใจลาออกจากงานในเมืองใหญ่  เพื่อกลับบ้านมาเป็นเกษตรกร  ดำเนินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช   บ้างก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ล้มเหลว  เพราะการทำเกษตรต้องใช้ความอดทนอย่างสูง  ทั้งเงินทุนตั้งต้น  รายได้ขาดหายระหว่างรอเก็บเกี่ยวผลผลิต  จึงจำใจยกธงขาว กลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวงเช่นเดิม


สุรีรัตน์  สิงห์รักษ์   - รณกร  จันทโรทัย  
แต่สำหรับนางสาวสุรีรัตน์  สิงห์รักษ์   เจ้าของ “ไร่ลองเลย”  วัย 30 ปี  ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงมือทำแล้วที่ไปได้สวย    เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สุรีรัตน์  พร้อมด้วย รณกร  จันทโรทัย  แฟนหนุ่มวัย 29 ปี   ตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ  กลับมาที่บ้านนาปอ อ.นาแห้ว จ.เลย  พลิกฟื้นภูเขาหัวโล้น  ไร่ข้าวโพด กลายเป็นป่าไม้ผลกว่า 100 ชนิด  เก็บขาย เก็บกินได้ตลอดทั้งปี  สามารถแบ่งเบาภาระหนี้สินจากที่พ่อกับแม่เคยทำไร่ข้าวโพด  จนปัจจุบันใช้หนี้เกือบหมดแล้ว

สุรีรัตน์เล่าว่า เดิมนั้นเป็นนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  เมื่อเรียนจบชั้นปริญญาตรี ก็เข้าไปทำงานเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลทางการแพทย์ของบริษัทวิจัยเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ   เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ได้กลับบ้านมาช่วยพ่อแม่หักข้าวโพด  ก็ได้รู้สึกถึงความเหนื่อยยาก  ที่ดินกว่า 60 ไร่  เป็นภูเขาหัวโล้น ดินแดง แข็งๆ มีแต่ปลูกข้าวโพด และกะทกรก  พ่อกับแม่ต้องใช้สารเคมีตลอดเวลา เพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ  แล้วจะได้นำเงินไปใช้หนี้ธ.ก.ส. ปีละกว่า 200,000 บาท  แทบจะไม่เหลือเงินไว้ใช้จ่ายในครอบครัว  อีกทั้งสุขภาพของพ่อแม่ก็เริ่มป่วยบ่อยขึ้น เพราะผลจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช  ถ้าปีไหนโชคร้าย ราคาข้าวโพดตกต่ำ หรือเกิดภัยแล้ง  เงินที่ได้ก็ไม่พอใช้หนี้ พ่อกับแม่ต้องเครียดจนล้มป่วย



หลังจากนั้น  ตนจึงคิดว่าต้องเปลี่ยนแปลงที่ดินผืนนี้เป็นป่าที่กินได้ ต้องลดค่าใช้จ่ายลงให้ได้มากที่สุด และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ  จึงได้เริ่มเพาะกล้าต้นไม้ ที่ระเบียงหลังห้องพักในกรุงเทพ โดยศึกษาหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต  เมล็ดผลไม้ที่กินแล้วก็จะไม่ทิ้ง นำไปเพาะให้หมด แล้วส่งพัสดุไปรษณีย์มาให้พ่อกับแม่และน้องสาวช่วยกันนำต้นกล้าใส่ถุงไว้  เมื่อตนกับแฟนกลับมาเยี่ยมบ้านก็จะช่วยกันปลูกไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งเห็นว่า คนทางบ้านต้องเหน็ดเหนื่อยกับการนำต้นกล้าลงถุงเพาะชำ  ประกอบกับต้นไม้ที่ปลูกก็เริ่มเจริญงอกงาม  ตนจึงตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน ทำเกษตรอย่างเต็มตัว  ซึ่งพ่อกับแม่ก็ยินดี และเลิกปลูกข้าวโพด  หันมาปลูกไม้ผลอย่างเต็มตัว  หลังจากนั้นอีกประมาณ 5 เดือน  แฟนของตนก็ลาออกจากงานวิศกรรมอิเล็คทรอนิกส์ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง  มาช่วยกันปลูกต้นไม้อย่างจริงจัง

สำหรับต้นไม้ที่ปลูก ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ผลเ  เช่น  มะคาเดเมีย  กาแฟพันธุ์อาราบิก้า  ฝรั่ง  อะโวคาโด ขนุน  ต้นหว้า อินทะผาลัม  ฯลฯ  โดยปลูกแซมไปตามแนวต้นกล้วย   ให้เทวดา ฟ้าฝน  และสิ่งมีชีวิตในไร่ดูแลกันเอง   นอกจากนี้ยังมีรายได้หลักอยู่ที่สตรอเบอรี่  ซึ่งเมื่อเทียบการปลูกข้าวโพด 60 ไร่ กับสตรอเบอรี่เพียง 1 งาน  ขายได้มากกว่า  ใช้ต้นทุนน้อยกว่า และไม่ต้องเสี่ยงกับพิษจากสารเคมีปราบศัตรูพืชด้วย

ความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่เลิกปลูกข้าวโพด แล้วมาทำสวนผสมที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากัน  พ่อกับแม่มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น  เพราะไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีปราบศัตรูพืช  ได้กินพืชผัก ผลไม้ที่ปลูกเอง  เป็นสมุนไพรป้องกันรักษาโรคไปในตัว  พ่อกับแม่แทบจะไม่ต้องไปหาหมอ  อย่างมากก็เป็นหวัดปีละไม่เกิน 2 ครั้ง   ลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวลงกว่าครึ่งหนึ่ง  พืชผักผลไม้เก็บขายได้หมุนเวียนกันตลอดทั้งปี    เหลือจากขายและรับประทานแล้ว ก็แจกจ่ายหรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านด้วย   นอกจากขายผลผลิตแล้ว  ยังมีการเพาะชำกล้าไม้ขายได้ด้วย  ทำให้มีรายได้เฉลี่ยปีละ ประมาณ  300,000 บาท   สามารถขอปรับโครงสร้างการหนี้กับ ธ.ก.ส. ผ่อนชำระได้อย่างไม่เร่งรีบมากนัก  ปัจจุบันก็เกือบลดลงได้ทั้งหมดแล้ว

ไร่ข้าวโพดในอดีต ก่อนจะมาเป็นไร่ลองเลย

ไร่ลองเลยในปัจจุบัน
สุรีรัตน์เล่าอีกว่า   หลังจากที่เริ่มลงมือปลูกต้นไม้ และเลิกปลูกข้าวโพด  แล้วมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีความสุขขึ้น  เพื่อนบ้านก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตามเช่นกัน  ตนก็จะแจกจ่ายกล้าไม้ที่เพาะได้ไปให้ปลูก ขยายผลออกไป  เป็นที่พอใจของกรมวังผู้ใหญ่ที่คอยติดตามดูความสำเร็จของนักเรียนทุนในสมเด็จพระเทพฯ จึงได้เข้ามาส่งเสริมในโครงการสร้างป่า สร้างรายได้  ไร่ลองเลยจึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่จะนำไปปรับใช้กับที่ดินของตนเอง   ขยายออกไปกว่า 50  ครอบครัวแล้ว


ไร่ลองเลย  จึงถือเป็นตัวอย่างของรางวัลที่เกิดจากความอดทน  เพียรพยายามของคนวัยหนุ่มสาว   หากเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่ในขณะนี้   ได้หันมาทำเช่นไร่ลองเลย   นอกจากจะมีผลผลิตที่กำหนดราคาเอง ขายได้ทั้งปี  มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้นแล้ว  ยังเป็นการเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นป่าธรรมชาติ  ฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมให้สมดุลได้อีกด้วย  คนกับป่าพึ่งพาอาศัยอยู่ด้วยได้อย่างลงตัว

พิสูจน์ให้เห็นว่า การเดินตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสร้างชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และสัมผัสได้จริง.   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น