ใครจะเชื่อว่า ผืนดินกลางหุบเขา หมู่บ้านยาง ต.ท่าลี่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ที่มีแต่ความแห้งแล้ง เต็มไปด้วยหินมากกว่าดิน จะกลายเป็นแปลงปลูกผักออแกนิค ส่งขายสร้างรายได้ปีละกว่า 1,800,000 บาท
นายอธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ เกษตรกรวัย 58 ปี ผู้บุกเบิกพลิกฟื้นดินผืนนี้ เล่าว่า ก่อนที่จะมายึดอาชีพเกษตรกรเต็มตัวในปัจจุบัน เดิมนั้นรับราชการเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ได้เห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีสารพิษ หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปช่วยราชการด้านสาธารณสุขในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครนายก ได้มีโอกาสเข้าไปพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เกษตรในโรงเรียนนายร้อยจปร. จึงเกิดแรงบัลดาลใจ อยากเป็นเกษตรกรแบบเต็มตัว
เมื่อทำงานชดใช้ทุนมหิดลนักเรียนพยาบาลจบลง ก็ลาออกจากงานก็กลับมาอยู่กับครอบครัวที่อำเภอท่าลี่ จ.เลย ตั้งใจอยากปลูกผักปลอดสารพิษ โดยพ่อตามีที่ดิน 60 ไร่ อยู่กลางหุบเขา ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 4 กิโลเมตร เดิมเป็นไร่มันสำปะหลัง ไม่มีแหล่งน้ำ ดินก็มีแต่หิน ไม่มีไฟฟ้า พ่อตาบอกว่า ยังไงก็ทำไม่ได้ แต่กลับเป็นความท้าทาย ต้องทำให้ดินผืนนี้ปลูกผักให้ได้ โดยยึดหลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องเกษตรพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด และคิดว่าอยากมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน ทั้งตนเองและผู้อื่น
หลังจากนั้นก็ เมื่อปี 2554 เริ่มลงมือขุดน้ำบาดาล ทำฝายชะลอน้ำ ปรับปรุงดิน โดยไม่ใช้สารเคมี ในช่วงนั้นก็มีบางครั้งที่ท้อแท้ เหนื่อยล้า แต่เมื่อได้คิดถึงความลำบากของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทำเพื่อพสกนิกร หนักหน่วงกว่าเราหลายเท่า ก็ทำให้รู้ว่ามีกำลังใจ เดินหน้าต่อ ระยะผ่านเพียง 1 ปี ก็เริ่มปลูกผักขายได้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงขยายพื้นที่ปลูกผักอีกหลายชนิด เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาด ฯลฯ นอกจากนี้ยังปลูกไม้ผลยืนต้นอีกหลายชนิด โดยในพื้นที่ 60 ไร่ จะรักษาป่าไว้รอบๆ บริเวณแปลงผัก เพื่อเป็นแนวกันชน ไม่ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชจากพื้นที่ข้างเคียงเข้ามาปนเปื้อน ซึ่งป่าแนวกันชนมีต้นผักหวาน เห็ด และพืชอาหารธรรมชาติให้เก็บกินได้อีกด้วย ทำให้พืชที่ปลูกจำนวนกว่า 50 ชนิด ได้รับใบรับรองว่าเกษตรอินทรีย์ระดับออร์แกนิกจากกรมวิชาการเกษตร
ส่วนในด้านการตลาดนั้น ได้ส่งขายไปตามหน่วยงานราชการ และเอกชนทั้งในและต่างจังหวัด แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผักที่ปลูกในไร่ จะมีราคาสูงกว่าผักทั่วไป เช่น กะหล่ำปลีหัวละ 60-80 บาท ปลูกเพียงแปลงเดียวก็ได้เงิน 6,000 บาท ได้เงินมากการปลูกมันสำปะหลัง หรือข้าวโพด ซึ่งใช้พื้นที่มากกว่า ต้นทุนสูงกว่า ซึ่งในไร่ จะมีหลักการที่ว่าต้องใช้เงินซื้อให้น้อยที่สุด เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าสูบน้ำขึ้นมาใช้รดพืชผัก อุปโภค บริโภค
ส่วนการกำจัดศัตรูพืชก็ใช้วิธีให้ธรรมชาติจัดการกันเอง จะสังเกตได้ว่า ตามแปลงผักจะมีต้นหญ้าขึ้นแซมด้วย หญ้าเหล่านี้จะเป็นตัวดึงดูแมลงที่จะมากัดกินผักให้ไปตอมหรือดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ และก็จะมีแมลงชนิดอื่นมากินแมลงพวกนี้อีกที ส่วนการบำรุงดินและพืชผัก ก็ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย ปุ๋ยคอก ผสมจานด่วนที่ประกอบด้วย นมสดหมดอายุกับไข่ ไก่ ทำให้พืชผักงอกงาม สมบูรณ์ ขายได้ราคาดี
เมื่อได้ลงมือทำอย่างจริงจัง จึงทำให้ไร่อธิศพัฒน์กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่เกษตรกร จากทั่วประเทศ โดยไม่มีการหวงความรู้ เพราะอยากให้การทำเกษตรอินทรีย์แพร่ขยายออกไปให้มากที่สุด เพื่อให้มีรายได้ดีขึ้นและสุขภาพที่ดีด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ ฝึกฝนตนเอง เพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆด้วย อีกทั้งยังมีรายได้จากคณะที่มาศึกษาดูงาน จากการขายพืชผัก ผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากการส่งขายพืชผักตามปกติ ทำให้มีรายได้หักจากต้นทุนทุกอย่างแล้วเหลือเงินเก็บประมาณปีละ 1,800,000 บาท โดยไม่มีหนี้สิน
อาจารย์อธิศพัฒน์จึงถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นำหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาลงมือปฏิบัติจนเห็นผลได้จริง ซึ่งปราชญ์เกษตรอินทรย์ท่านนี้ มักจะบอกกับทุกคนที่มาเรียนรู้ว่า “อย่าชอบคำสอนของพ่ออย่างเดียว ต้องลงมือทำด้วย”.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น