เมื่อวันที่ 29 กันยายน
2562 นายชัชพงษ์ อาจแก้ว
นายอำเภอเชียงคาน จ.เลย ได้เข้าตรวจสอบผ้าพระบฏภายในโบสถ์วัดมหาธาตุ อ.เชียงคาน ที่เชื่อว่ามีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถูกค้นพบระหว่างที่คณะทำงานศึกษากลั่นกรองประวัติและความเป็นมาของเมืองเชียงคาน
ประกอบด้วยนายสมชาย คำพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเชียงคาน
"ปทุมมาสงเคราะห์" ดร.ธีระวัฒน์ แสนคำ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์
สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และนายธัชกร อ้วนแก้ว เข้ารวบรวมข้อมูลภายในวัด
ผ้าพระบฏที่ค้นพบครั้งนี้ มีภาพรอยพระพุทธบาท
4
รอยซ้อนกันบนผืนผ้าขาวที่ทอจากเส้นฝ้าย นอกจากนี้ยังมีภาพเขาพระสุเมรุ
แวดล้อมด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ทวีปทั้งสี่
มีภาพพระสาวกและเทวดาประกฏอยู่ด้วย ภาพส่วนใหญ่ลงเส้นด้วยสีดำ
ระบายด้วยสีแดงและสีฟ้าเป็นหลัก ด้านล่างผืนผ้ามีข้อความเขียนด้วยผ้าพระบฏผืนนี้มีความยาว
7.20
เมตร กว้าง 2.60
เมตร เชื่อว่าเป็นผ้าพระบฏรูปรอยพระพุทธบาท 4
รอย ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่เคยพบมา ผ้าพระบฏนี้เดิมเชื่อว่า อาจใช้เเขวนบูชาอยู่ภายในวัดมหาธาตุ
ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่คู่ชุมชนเมืองเชียงคาน ต่อมาผืนผ้าอาจชำรุดจึงถูกนำมาม้วนเก็บไว้ในหีบไม้ภายในโบสถ์วัดมหาธาตุ
แต่จะถูกนำมาเก็บไว้ตั้งเเต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน
จากการสอบถามพระอธิการประจักษ์ สุเมโธ เจ้าอาวาส และคณะกรรมการวัดชุดปัจจุบัน ต่างก็ไม่ทราบว่าภายในวัดมีผ้าพระบฏดังกล่าว
ดร.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ผ้าพระบฏรอยพระพุทธบาท 4
รอยนี้ เป็นงานศิลปกรรมที่ผสมผสานทั้งศิลปะพื้นบ้านล้านนา ศิลปะอย่างราชสำนักสยาม
และศิลปะท้องถิ่น เมื่อพิจารณาจากภาพวาดและการวางองค์ประกอบของภาพในผ้าพระบฏ
สันนิษฐานว่าผ้าพระบฏนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25
หรือในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองเชียงคานเริ่มมีขุนนางที่ราชสำนักกรุงเทพฯ
ส่งมาช่วยเจ้าเมืองปกครอง มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
และมีกลุ่มคนจากบ้านเมืองต่างๆ เข้ามาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดี
หากมีการอ่านและปริวรรตข้อความอักษรธรรมที่ปรากฏอยู่ด้านล่างแผ่นผ้า
อาจทำให้ทราบข้อมูลการสร้างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้านนายอำเภอเชียงคาน กล่าวว่า
การค้นพบผ้าพระบฏที่วัดมหาธาตุในครั้งนี้
ถือเป็นการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งของอำเภอเชียงคาน
ที่จะทำให้เราทราบความเป็นมาและตัวตนของชาวเชียงคานมากยิ่งขึ้น
ต่อจากนี้ทางอำเภอเชียงคานคงจะได้ร่วมกับทางวัดมหาธาตุ นักวิชาการและชุมชน
ตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาและอนุรักษ์ผ้าพระบฏวัดมหาธาตุ
และประสานงานกับทางกรมศิลปากรเพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยในการอนุรักษ์ตามหลักวิชาการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อไป
พระอธิการประจักษ์ สุเมโธ เจ้าอาวาส กล่าวว่า ผ้าพระบฏนี้ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดเลย
เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงคาน ที่สะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อ
อัตลักษณ์และพลวัตทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในลุ่มแม่น้ำโขง
หากผ้าพระบฏนี้ได้รับการอนุรักษ์และจัดเเสดงให้ประชาชนทั่วไปสามารถชมได้
คงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ทั้งนี้
พระบฏ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ
มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว
มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา
ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา.
x
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น