วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ผู้ว่าฯเลยแจงงบภัยแล้ง 200 ล้าน ยันดูใกล้ชิด โปร่งใสไม่มีรั่วไหล (ชมคลิป)



ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562  ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน  โดยสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็น จำนวน 15,800 ล้านบาท แบ่งเป็น 74 จังหวัด ๆ ละ 200 ล้านบาท และสำหรับจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ อนุมัติช่วยแก้ไขน้ำแล้ง 500 ล้านบาท


สำหรับจังหวัดเลย ได้รับอนุมัติงบประมาณครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 199,734,000 บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบเก้าล้านเจ็ดแสนสามหมื่นสี่พันบาทถ้วน) โดยแยกการจัดสรรงบประมาณกระจายไปยัง 17 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เลย 142 โครงการ วงเงิน 110,774,600 บาท , อำเภอปากชม 19 โครงการ วงเงิน 6,846,000 บาท , อำเภอภูกระดึง 17 โครงการ  วงเงิน 7,949,300 บาท  , อำเภอเชียงคาน 21 โครงการ  วงเงิน 6,317,200  บาท  , อำเภอด่านซ้าย 12 โครงการ  วงเงิน  6,955,100  บาท  , อำเภอหนองหิน 14 โครงการ วงเงิน 5,316,200 บาท , อำเภอเมืองเลย 35 โครงการ วงเงิน 8,556,400  บาท

อำเภอนาด้วง 8 โครงการ  วงเงิน 2,262,400  บาท  , อำเภอท่าลี่ 17 โครงการ วงเงิน 4,958,500  บาท , อำเภอวังสะพุง 26 โครงการ วงเงิน 7,017,500  บาท , อำเภอผาขาว  31 โครงการ  วงเงิน 8,998,000 บาท , อำเภอนาแห้ว  22  โครงการ วงเงิน 7,839,600 บาท , อำเภอภูหลวง 13 โครงการ 4,628,400  บาท , อำเภอเอราวัณ  23 โครงการ  วงเงิน 5,970,300  บาท ,  และอำเภอภูเรือ 19 โครงการ วงเงิน 5,344,600 บาท รวม 419 โครงการ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเจาะบ่อน้ำบาดาล เป่าล้าง และขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ



ทั้งนี้  หลังการประกาศวงเงินและจำนวนโครงการ  ได้มีผู้ประกอบการรับจ้างขุดเจาะน้ำบาดาลร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ตั้งข้อสังเกตหลายประการ โดยเฉพาะจากการตรวจเอกสารโครงการในบางอำเภอ พบว่าการประมาณราคารับเหมาดำเนินการ ค่าจัดซื้อวัสดุราคาสูงกว่าท้องตลาด ส่อให้เห็นว่าอาจจะมีการกระทำที่ไม่โปร่งใส การตรวจสอบโครงการนี้ ต้องให้ภาคประชาสังคมเข้าร่วมด้วย โดยเฉพาะขั้นตอนการลงท่อ หากไม่ดูแลใกล้ชิด อาจได้ท่อที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่ครบตามจำนวน

ขณะเดียวกัน มีการแบ่งการจัดซื้อจัดจ้างออกเป็นโครงการย่อยๆ ไม่เกิน 500,000 บาท  เพื่อหลีกเลี่ยงการการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์(e-bidding)   และยังมีการให้ข้อมูลอีกว่า มีกลุ่มบุคคลเข้ามาจัดสรรแบ่งบันงบประมาณจำนวนนี้ด้วยวิธีพิเศษ มีการหักค่าหัวคิวหลายทอด รวมประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์  จนผู้รับเหมาหลายรายไม่สามารถเข้าประมูลงานได้ เพราะหากได้รับงานแล้วจะทำให้ขาดทุนอย่างหนัก  ผู้ร้องเรียนระบุ

นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เปิดเผยถึงกรณีนี้ว่า   เราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เนื่องจากว่าจังหวัดเลยมีปริมาณน้ำฝนเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยและก็เทียบกับปีที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย ทำให้จังหวัดเลยประสบปัญหาน้ำแล้ง  เพราะฉะนั้นงบประมาณที่ได้มา ก็ต้องมุ่งไปที่ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ น้ำกินน้ำใช้  ซึ่งตนได้ให้โจทย์กับผู้เกี่ยวข้องไปว่า ขอให้บริหารจัดการน้ำกินน้ำใช้ให้พี่น้องประชาชนได้ถึงเดือนมิถุนายน  เพราะเราคาดการณ์ว่าฝนจะตกในรอบปีต่อไป ประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งงบทั้งหมดนี้จะถูกนำไปใช้ในลักษณะคือ เรื่องเจาะบ่อบาดาลกับเรื่องขุดลอก  เพื่อที่จะมีแหล่งเก็บกักน้ำ



สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าการใช้งบประมาณก้อนนี้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มขอไปบริหารจัดการเองนั้นไม่มีเรื่องแบบนั้นแน่นนอน  การจัดซื้อจัดจ้างก็จะทำในลักษณะตกลงราคา และจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน  ชอบด้วยระเบียบกฎหมาย รวมทั้งเอาหมู่บ้านที่ขาดแคลนเป็นหลัก  เป็นเรื่องของการเสนอความต้องการผ่านมายังส่วนราชการองค์กรปกครองท้องถิ่น  และผู้ที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดก็เป็นอำเภอ เป็นที่ทำการปกครองอำเภอ  หลังจากนั้นก็จะมีการตรวจสอบและประเมินผล เนื่องจากว่างบตัวนี้เราต้องการที่จะเอาไปแก้ไขปัญหาภัยแล้ง  ต้องให้ตรงกับสิ่งที่พี่น้องประชาชนต้องการจริงๆ  โดยเราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ส.ต.ง. , ป.ป.ช.  และภาคการศึกษา  จะร่วมกันประเมินและตรวจสอบให้เป็นไปตามสัญญาข้อตกลง คือต้องเจาะให้ได้ความลึก 100 เมตร  เพราะจากการสอบถามประชาชนแล้ว หากเจาะเพียง 50 เมตร จะมีน้ำไม่เพียงพอ  นายชัยวัฒน์กล่าว.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น