เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ที่ศาลาประชาคมอำเภอปากชม จ.เลย
มีการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาแผนเชิงรุกด้านการประมงระดับชุมชน
ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง
โดยมีเครือข่ายนักวิจัยชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง 8 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเลย หนองคาย
บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร
อำนาจเจริญ
และจังหวัดอุบลราชธานี
พร้อมด้วยนักวิชาการ ประมงจังหวัดเลย และนักพัฒนาองค์กรเอกชนเข้าร่วมกว่า
150 คน
ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ
บนฐานความมั่นคงทรัพยากรทางอาหารและทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำโขง
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้
ได้มีการนำเสนอผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนในประเทศจีนและ สปป.ลาว
ที่ส่งผลให้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทย ตั้งแต่อำเภอเชียงคาน
จังหวัดเลยไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี
โดยมีการรวบรวมสถิติการขึ้นลงของระดับน้ำที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลให้ชนิดและจำนวนพันธุ์ปลาลดลง รวมทั้งระบบนิเวศสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงด้วย
นายมนตรี จันทวงศ์
ผู้ดำเนินโครงการฯ เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงเทียบปีที่แล้วกับปีนี้
ถือว่ามีความผันผวนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ในปีที่แล้ว แม่น้ำโขงช่วงนี้กำลังท่วมอย่างหนัก
พอมาปีนี้ น้ำโขงกลับแห้งมาก
ประกอบกับเขื่อนในประเทศจีนปล่อยน้ำลงมาน้อย
และกำลังจะมีการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าที่เขื่อนไชยะบุรี ในสปป.ลาว วันที่ 29
ต.ค.นี้ ก็ยิ่งทำให้ปริมาณน้ำไหลมาน้อยลงไปอีก ผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดในช่วงนี้คือ การผลิตน้ำประปาทุกแห่งที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นน้ำดิบ ส่วนปลาขณะนี้กำลังหลงฤดู มีหลายชนิดที่ควรจะขึ้นมาวางไข่ในช่วงเดือนมกราคม แต่กลับมาขึ้นในช่วงนี้แล้ว ทำให้ชาวประมงจับปลาชนิดดังกล่าวได้มาก แต่ในระยะยาว ปลาเหล่านี้จะลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ
เพราะไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับตัวอ่อน
จากผลกระทบดังกล่าวทางองค์กรภาคเอกชนและเครือข่ายประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงได้สะท้อนปัญหาผลกระทบไปยังหน่วยงานราชการและองค์กรที่ดูแลแม่น้ำโขงระหว่างประเทศ รวมทั้ง กฟผ.ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งฟ้องศาลปกครองด้วย อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นเวทีหารือร่วมกันว่าจะมีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไรบ้าง
โดยมีสถิติข้อมูลบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจน นายมนตรีกล่าว
ด้านนายพิทักษ์ สารีพิมพ์
อายุ 65 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน
อ.ปากชม จ.เลย กล่าวว่า
ตนหากินกับแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 การหาปลาในอดีตทำได้ง่าย
และมีจำนวนมาก
แต่ความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏขึ้นในเดือนกันยายน 2547 แม่น้ำโขงเริ่มขุ่นข้น ไหลมาเป็นตะกอนดินโคลน
ผิดธรรมชาติ ทำให้ปลาต้องหนีตายเข้าไปในแม่น้ำสาขา
ส่วนที่หนีไม่ทันก็ตายเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปกติเรื่อยมา หาปลายากขึ้น พันธุ์ปลาที่เคยเห็นก็หายไป ในอดีตนั้นชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขง
แทบจะไม่ได้ใช้เงินซื้ออาหาร แค่ลงไปหาปลาในแม่น้ำโขงก็พอกิน
เก็บผักเก็บผลไม้ที่ปลูกไว้ริมแม่น้ำขึ้นมาเลี้ยงดูครอบครัว มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายได้อย่างสบายๆ แต่ทุกวันนี้
ต้องซื้อกินทุกอย่าง นายพิทักษ์กล่าว
ส่วนสถานการณ์แม่น้ำโขงเมื่อวันที่
27 ตุลาคม 2562
ระดับน้ำโขงได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง วัดได้ที่ศูนย์สำรวจอุทุกวิทยาที่ 8
เชียงคาน อยู่ที่ 4.06 เมตร ลดลงเฉลี่ยวันละ 30-40 เซนติเมตร ทำให้แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านเขตรอยต่ออำเภอเชียงคานถึงอำเภอปากชม
ได้แห้งขอด เหลือแต่โขดหิน ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนแล้ง กลายเป็นทุ่งโล่ง
ชาวบ้านพากันนำวัวลงมาเลี้ยงในแม่น้ำโขง ซึ่งปกติแล้ว
ชาวบ้านจะนำวัวลงมาเลี้ยงช่วงเดือนเมษายน.
x
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น