วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

“ส.ส.ป็อก” ถกพ.ร.บ.งบฯ ขอถนนสี่เลนเลย-ขอนแก่น / เลาะริมโขงเชื่อมรถไฟความเร็วสูง - ชำแหละรัฐบาลไม่จริงใจกระจายอำนาจ (ชมคลิป)




เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562  ตามที่รัฐสภาได้เปิดประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (...) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เป็นวันแรกนั้น  นายเลิศศักดิ์  พัฒนชัยกุล  ส.ส.เลย เขต 1 พรรคเพื่อไทย  ในฐานะฝ่ายค้าน ได้รับโอกาสจากพรรคให้ขึ้นอภิปรายในครั้งนี้ด้วย  โดยได้เน้นไปที่การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโครงการพัฒนาระบบคมนาคมต่อเนื่องจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง



นายเลิศศักดิ์กล่าวว่า  รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ และมองข้ามความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด  รัฐบาลได้เพิกเฉยต่อกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะพัฒนาประเทศและสร้างความเจริญให้ได้อย่างทั่วถึง  กฎหมายฉบับนี้คือ พระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ. ศ. 2542 ซึ่งกำหนดสาระสำคัญไว้ 2 ประการ คือ ประการแรก กำหนดให้รัฐบาลจะต้องจ่ายภารกิจถ่ายโอนบริการสาธารณะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประการที่ 2 คือการกำหนดในส่วนของงบประมาณที่จะจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เพียงพอต่อการบริการสาธารณะ

ซึ่งในพ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดจุดเป้าหมายสำคัญก็คือ จะต้องให้ท้องถิ่นมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 35  แต่เมื่อพิจารณาในส่วนของร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ให้กับท้องถิ่นในปีนี้ 804,826 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 7.1 ก็จริง แต่ในสัดส่วนรายได้สุทธิของท้องถิ่นต่อของรัฐบาลยังคงอยู่ที่ร้อยละ 29.4 เท่ากับปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา นั่นหมายความว่ายังห่างไกลเป้าหมายร้อยละ 35 และก็จะทำให้ท้องถิ่นยังคงขาดแคลนงบประมาณในการที่จะพัฒนาและก็สร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นเอง 

และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลได้ลวงพลาง เอานโยบายของรัฐบาลไปซุกไว้ในแผนการใช้จ่ายเงินของท้องถิ่น ซึ่งทำให้สัดส่วนรายได้ของรัฐบาลของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลดูสูงขึ้น  เช่นเอาโครงการอาหารกลางวันและนมโรงเรียน ซึ่งรัฐบาลโอนผ่านท้องถิ่นและให้ท้องถิ่นโอนต่อไปให้กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต่อไปทีหนึ่ง  โครงการค่าตอบแทนให้แก่อสม.หรือโครงการเบี้ยยังชีพเหล่านี้เป็นเงินทั้งสิ้นกว่าหนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาท   ที่หนักไปกว่านั้น และกำลังจะเป็นปัญหาสำหรับท้องถิ่นทั้งหมดก็คือ ประมาณการรายรับในส่วนที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ซึ่งคาดว่าจะได้สูงขึ้นนี่คือความคาดหวังของรัฐบาล  โดยใช้พ.ร.บ. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคมปี 2563 นี้คาดการณ์ว่าจะได้จัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง ได้มีการสำรวจไปที่ท้องถิ่นหลายแห่งพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันครับว่าพ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้ได้น้อยลงซึ่งจะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่รัฐบาลได้คาดหวังไว้  ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณในลักษณะนี้ถือว่ารัฐบาลกำลังแช่แข็ง และทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอ่อนแอลง  

มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมกับการพัฒนา และก็ไม่ช่วยลดในส่วนของความเหลื่อมล้ำก็คือการถ่ายโอนภารกิจแต่ไม่โอนงบประมาณ  เช่นเรื่องของถนนท้องถิ่นซึ่งได้มีการถ่ายโอนจากกรมโยธาธิการ ถ่ายโอนจาก รพช.ในอดีต  และทางหลวงชนบท ถ่ายโอนภารกิจในการดูแลรักษาแต่ไม่ถ่ายโอนงบประมาณ  จะสังเกตว่าเวลาเราไปท้องถิ่นพื้นที่ในชนบทได้เห็นว่าถนนหนทางเป็นหลุมเป็นบ่อชำรุดทรุดโทรม  แต่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือว่าเทศบาลไม่มีงบประมาณไปดูแลรักษา ขอให้รัฐบาลได้กรุณาจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ในรูปแบบของเงินอุดหนุนเฉพาะกิจไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  ซึ่งในหมวดนี้มีงบประมาณไว้เพียงแค่ 5,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น  งบประมาณหลักๆยังคงอยู่ที่กรมทางหลวงชนบท  นี่คือตัวอย่างของการที่รัฐบาลรวบรวมศูนย์อำนาจไว้  ยังไม่รวมภารกิจการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง  ภารกิจของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ซึ่งเป็นภารกิจหลักของท้องถิ่นแต่รัฐบาลยังคงจัดสรรเงินไปที่กระทรวงมหาดไทยอยู่ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในข้อเท็จจริงที่รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ

นายเลิศศักดิ์กล่าวอีกว่า   ต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาวอีสานซึ่งกำลังจะได้ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และก็ต่อจากนั้นก็จะเป็นขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย  เห็นความจำเป็นสำหรับการทำรถไฟความเร็วสูงโครงการนี้ และก็คิดว่านี่คือการพัฒนาศักยภาพระบบรางของประเทศและเป็นการพัฒนาภูมิภาค เชื่อมพม่า -ลาว- จีน  โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯนครราชสีมานี้จะต้องใช้งบประมาณในปี 2563 และงบประมาณปีต่อต่อไปสูงมาก 

รัฐบาลจัดสรรงบประมาณลักษณะนี้ดี  แต่กำลังจะทิ้งบางจังหวัดไว้ข้างหลัง  ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดบึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย  และสกลนคร ไม่อยู่ในเส้นทางของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในอนาคตเมื่อรถไฟความเร็วสูงสร้างเสร็จ จังหวัดใดที่อยู่ในเส้นทางของรถไฟความเร็วสูง สถานีตั้งอยู่ที่อำเภอใด อำเภอนั้นจะมีความเจริญก้าวกระโดด และวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนก็จะเปลี่ยนไปด้วย 

จึงอยากวิงวอนครับให้กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงได้หันมาพิจารณาเส้นทางของทางหลวงที่จะเชื่อมต่อจากจังหวัดต่างๆเหล่านี้ไปเชื่อมต่อถึงรถไฟความเร็วสูงในจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดเลยควรจะพัฒนาเส้นทางที่เชื่อมจังหวัดเลยไปยังจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ไปใช้บริการรถไฟความเร็วสูงได้สะดวก  

ยกตัวอย่างเช่นถนนทางหลวงสายเลย-ชุมแพ-ขอนแก่น ปัจจุบันยังเป็น 2 เลนสวนกันอยู่  อย่างนี้ก็ควรจะพัฒนาให้เป็น 4 เลน เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  หรือแม้กระทั่งทางเลี่ยงเมือง  หรือยกตัวอย่างเส้นทางสายสำคัญอีกทางหนึ่งก็คือเลย-หนองคาย ซึ่งเริ่มจากเชียงคาน - ปากชม - สังคม – ศรีเชียงใหม่ – ท่าบ่อ -หนองคาย  เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่สวยงามมากเรียกว่าเป็นเส้นทางสายโรแมนติกก็ว่าได้   กรมทางหลวงควรจะหันมาพิจารณาให้ความสำคัญกับการพัฒนาจังหวัดในลักษณะนี้ด้วย  นายเลิศศักดิ์  พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย กล่าว

ทั้งนี้ หลังการอภิปรายจบ และมีการนำคลิปช่วงนี้ไปเผยแพร่ในโซเชี่ยลมีเดีย ได้รับเสียงชื่นชมจากชาวจังหวัดเลยเป็นอย่างมาก ส่วนใหญ่ระบุว่านี่คือผู้แทนฯที่ประชาชนอยากเห็นมานานแล้ว ทำงานคุ้มค่ากับภาษี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น