วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ผู้ว่าฯเลยตรวจสอบผ้าพระบฏเก่าแก่ที่เชียงคาน เตรียมประสานกรมศิลปากรอนุรักษ์แล้ว (ชมคลิป)



นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ได้เข้าตรวจสอบผ้าพระบฏภายในโบสถ์วัดมหาธาตุ  อ.เชียงคาน ที่เชื่อว่ามีขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย  ซึ่งถูกค้นพบระหว่างที่คณะทำงานศึกษากลั่นกรองประวัติและความเป็นมาของเมืองเชียงคาน เข้ารวบรวมข้อมูลภายในวัด
 

ผ้าพระบฏดังกล่าวมีขนาดกว้าง 2.60 เมตร ยาว 7.20 เมตร เป็นผ้าฝ้ายทอเย็บติดกัน 4 ผืน ส่วนบนเขียนเป็นภาพรอยพระพุทธบาทซ้อนกัน 4 รอย มีภาพตาลปัตรอยู่ทางซ้าย ภาพ ภาพพระพัชนี (พัด) อยู่ทางขวา และมีภาพฉัตร 5 ชั้นขนาบอยู่ทั้งสองข้าง  ส่วนล่างภาพค่อนข้างเลือนรางมาก ตอนท้ายมีข้อความที่เขียนด้วยอักษรธรรม แต่เลือนลางมากเช่นกัน กึ่งกลางผืนผ้าวาดเป็นภาพเขาพระสุเมรุแวดล้อมด้วยสัตบริภัณฑ์ เหนือเขาพระสุเมรุมีไพชยนตปราสาทซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์ซ้อนทับอยู่ส่วนส้นพระบาทที่เล็กที่สุด แวดล้อมด้วยดวงอาทิตย์และดวงจันทร์



ดร.ธีระวัฒน์  แสนคำ  อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย  กล่าวว่า  เป็นรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏตามอารามสำคัญในกรุงเทพฯ  ส่วนปลายพระบาทมีการวาดภาพสัตว์มงคลต่างๆ เช่น สิงห์ ช้าง และคชสีห์ เป็นต้น และมีภาพสัญลักษณ์แทนด้วยทวีปทั้งสี่แวดล้อมอยู่ นอกจากนี้ ยังมีภาพพระพุทธเจ้า ภาพเทวดา และภาพบุคคลที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพพระศรีอาริย์อยู่ด้วย

สำหรับลักษณะงานศิลปกรรมที่พบ สันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปกรรมที่ผสมผสานทั้งศิลปะพื้นบ้านล้านนา ศิลปะอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ และศิลปะท้องถิ่น ผ้าพระบฏนี้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงที่เมืองเชียงคานมีความสัมพันธ์กับราชสำนักกรุงเทพฯ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25  หรือในช่วง สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมืองเชียงคานเริ่มมีขุนนางที่ราชสำนักกรุงเทพฯ ส่งมาช่วยเจ้าเมืองปกครอง มีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และมีกลุ่มคนจากบ้านเมืองต่างๆ เข้ามาติดต่อค้าขายเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดี หากมีการอ่านและปริวรรตข้อความอักษรธรรมที่ปรากฏอยู่ด้านล่างแผ่นผ้า อาจทำให้ทราบข้อมูลการสร้างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  หากมีการอ่านและปริวรรตข้อความอักษรธรรมที่ปรากฏอยู่ด้านล่างแผ่นผ้า อาจทำให้ทราบข้อมูลการสร้างที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  ดร.ธีระวัฒน์  กล่าว




 ด้านผู้สูงอายุในชุมชนรอบวัดมหาธาตุ  เล่าวว่า  แต่เดิมผ้าพระบฏนี้เคยถูกนำมาใช้แขวนบูชาในช่วงงานบุญเดือน 6 หรือในปีไหนที่แห้งแล้งฝนตกน้อย ก็จะนำผ้าพระบฏนี้มาแขวนบูชากลางแจ้งเพื่อประกอบพิธีขอฝน  ภายหลังไม่ได้มีการนำผ้าพระบฏออกมาแขวนบูชาหลายสิบปีมาแล้ว และจนทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าผ้าพระบฏผืนนี้น่าจะชำรุดหรือสูญหายไปแล้ว

ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวหลังเข้าชมผ้าพระบฏว่า  หลังจากนี้จะประสานกับกรมศิลปากร เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการวางแผนการอนุรักษ์  พร้อมทั้งอ่านตัวอักษรบนผืนผ้า เพื่อวิเคราะห์ว่ามีอายุเก่าแก่เท่าใด รูปภาพที่ปรากฏมีที่มาอย่างไรบ้าง เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งการทำแผ่นผ้าจำลอง เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาชื่นชมถึงความเจริญรุ่งเรืองด้านพระพุทธศาสนาของเมืองเชียงคานในอดีต.  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น