วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

รถเอ็กซเรย์มะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ฟรี ถวายเป็นพระราชกุศล แนวโน้มหญิงเลยป่วยเพิ่มขึ้น เหตุกินอาหารไขมัน (ชมคลิป)



เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562  ที่หอประชุมอำเภอเมืองเลย  จ.เลย  นายชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย  เป็นประธานพิธีเปิด โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม  เคลื่อนที่ ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562  จัดโดยมูลนิธิกาญจนบารมี และสำนักงานสาธารณสุข จ.เลย



นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย  กล่าวว่า  ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีไทย ซึ่งยังไม่ทราบถึงสาเหตุของมะเร็งเต้านมที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงคือ กลุ่มคนที่มีประจำเดือนมาเมื่ออายุน้อยหรือหมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารไขมัน และสตรีที่มีญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มักพบในสตรีอายุ 40 ปี   ขึ้นไป ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมีก้อน และแผลที่เต้านม

การป้องกันมะเร็งเต้านม คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารไขมัน และการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุดตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง และการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม      ซึ่งสามารถทำให้พบก้อนมะเร็งได้ขนาดเล็กซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้



มูลนิธิกาญจนบารมี จึงได้จัดทำ “โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์  เต้านมเคลื่อนที่ ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในโอกาส มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ,  เพื่อรณรงค์ให้สตรีที่อยู่ห่างไกลและมีปัจจัยเสี่ยงต่อการป่วยด้วยมะเร็งเต้านม ให้ได้รับการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม





โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการทั้งหมด 77  จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจังหวัดเลย จัดระหว่างวันที่ 2-6  ธันวาคม 2562 ที่หอประชุมอำเภอเมืองเลย อำเภอปากชม และอำเภอท่าลี่

สำหรับสถานการณ์จังหวัดเลย ปี 2561 มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 94 ราย ซึ่งพบในระยะท้าย  หรือระยะที่ 3 และ 4 ร้อยละ 25%  และปี 2562 (ข้อมูลถึงเดือน มีนาคม) พบผู้ป่วยรายใหม่ 52 ราย  อยู่ในระยะท้าย 38.24%  ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น