เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ
เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเลย
เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และห้วหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ
ซึ่งมีวาระการประชุม
เพื่อรับทราบสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 88 โครงการ ซึ่งปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนโครงการฯ
ทั้ง 4 ภาค ไปแล้วจำนวน 47 โครงการ
นอกจากนี้ยังได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำในเขตลุ่มน้ำเลย
ซึ่งมีปริมาณน้ำภาพรวมต่ำกว่าปี 2562 ร้อยละ 34
สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่คณะอนุกรรมการฯ
ได้มีการติดตามและขับเคลื่อนฯ จำนวน 14 โครงการ
โดยมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
หรือ กปร. ไปแล้วจำนวน 12 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ จำนวน 2 โครงการ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยวังเงียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 7
มิถุนายน 2562 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร
ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมในการดำเนินการก่อสร้างทำนบดินปิดกั้นลำห้วยวังเงียง
เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถส่งน้ำช่วยเหลือราษฎร จำนวน 2 หมู่บ้าน ประชากรรวม
820 ครัวเรือน มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
และพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนได้รับประโยชน์ 2,200 ไร่ ฤดูแล้ง 820 ไร่
ต่อมาเวลา 14.00 น. คณะฯ
เดินทางไปติดตามการดำเนินงานของโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำเลยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านสวนปอ ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2520
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มแม่น้ำเลย
เพื่อจัดหาน้ำให้กับราษฎรในลุ่มน้ำเลย ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง
และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี โดยกรมชลประทาน
ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. เมื่อปี 2555 และหว่างปี 2555 – 2559 ในการก่อสร้างโครงการ ปัจจุบันราษฎรในเขตอำเภอเมืองเลย
และอำเภอวังสะพุง มีแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค
รวมทั้งยังสนับสนุนระบบประปาให้กับทั้งสองอำเภอ และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำเลยตอนล่างของโครงการอีกด้วย
นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนการพัฒนาระบบส่งน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานโดยก่อสร้างคลองส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการโดยกำหนดก่อสร้างในปี 2565
และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะสามารถสนับสนุนน้ำให้พื้นที่ชลประทานโดยแรงโน้มถ่วง
จำนวน 24,912 ไร่ ราษฎร 5 ตำบล 27 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอภูหลวง
และอำเภอวังสะพุง นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนพื้นที่ชลประทานโดยระบบสูบน้ำ จำนวน
34,680 ไร่ ให้แก่ราษฎร 11 ตำบล 23 หมู่บ้าน
ในเขตอำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และอำเภอเชียงคาน รวมพื้นที่ชลประทาน 59,592 ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอ 16 ตำบล 11,510 ครัวเรือน
ประชากร 57,530 คน
ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปีอีกด้วย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น