วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ชาวปากชมค้านสร้างเขื่อนสานะคามในลาว ขอย้ายจุดมาหาดคัมภีร์ รอเก้อยื่นหนังสือบิ๊กป้อม จนท.ห้ามเข้าใกล้ (ชมคลิป)



เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563  กลุ่มชาวบ้านจากอำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน จ.เลย  กว่า 50 คน นำโดยนายกัญจน์  วงศ์อาจ และนางเสาวรักษ์  ดาปี  กำนันตำบลหาดคัมภีร์  ได้เดินทางมารอยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  ในโอกาสที่เดินทางมาเปิดบ่อน้ำบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้งที่บ้านสะอาด  ตำบลน้ำสวย  อ.เมือง จ.เลย  เพื่อขอให้รัฐบาลยับยั้งโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังไฟฟ้าสานะคาม ห่างจากปากแม่น้ำเหือง บ้านท่าดีหมี อ.เชียงคาน ที่กำลังก่อสร้างสกายวอล์ค แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเชียงคาน เพียง 2 กิโลเมตร  ซึ่งมีลุ่มทุนประเทศจีน  รัฐบาล สปป.ลาว และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยร่วมดำเนินโครงการ  แต่กลุ่มชาวบ้านไม่สามารถจะเข้ายื่นข้อเรียกร้องได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด



อย่างไรก็ตาม  เมื่อวานนี้  นายสิริวิชญ์  กลิ่นภักดี  ผู้ช่วยเลขาธิการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เดินทางมารับหนังสือเรียกร้องจากกลุ่มชาวบ้าน ที่ที่ว่าการอำเภอปากชมแล้ว  โดยจะนำข้อเสนอของชาวบ้านไปให้ที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

นางเสาวรักษ์  ดาปี  กำนันตำบลหาดคัมภีร์  อ.ปากชม  หนึ่งในแกนนำชาวบ้าน ที่มารอพบรองนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เปิดเผยว่า  เหตุที่ต้องคัดค้านการสร้างเขื่อนในลาว ห่างจากชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร  เกรงว่า จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงจะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในประเทศไทย  ซึ่งชาวบ้านไม่ได้คัดค้านอย่างสิ้นเชิง  เพียงอยากเรียกร้องให้ทางรัฐบาล หารือกับทางการลาว และประเทศจีน  ให้ย้ายจุดก่อสร้างมาที่แม่น้ำโขงบ้านหาดคัมภีร์  อ.ปากชม เพื่อให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย และเป็นห่วงเรื่องโครงสร้าง มาตรฐานการก่อสร้างอาจมีข้อบกพร่อง ชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบ จากเขื่อนชำรุด แตกพัง  ซึ่งจุดที่พวกตนเสนอนี้ เป็นจุดเดิมที่เคยมีการสำรวจโครงการก่อสร้างเขื่อนปากชม  ห่างจากจุดเดิมประมาณ 80 กิโลเมตร




ทั้งนี้  กลุ่มชาวบ้าน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ยื่นต่อพล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ  ระบุว่า ชาวโขงเลยมีความห่วง ในความปลอดภัยด้านการออกแบบของมาตรฐานเขื่อน และการบริหารจัดการน้ำในระบบท้ายเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง ที่ตั้งเขื่อนสานะคามเป็นพื้นที่อ่อนไหวในทุกๆมิติทั้งทางเศรษฐกิจ-สังคม-ทางภูมินิเวศ-วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-สิ่งแวดล้อม-และภูมิรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงของประเทศตลอดท้ายเขื่อน รัฐจึงควรต้องมีแผนงานเชิงระบบรองรับ ทั้งราชการส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค-ส่วนท้องถิ่น-เอกชน-และประชาชน เชิงระบบ ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง 

เสนอให้มีคณะทำงานพิเศษ ในพื้นที่ 2 ประเทศ เพื่อสร้างกระบวนการศึกษา ในประเด็นที่ตั้งเขื่อนทางเลือก ที่มีวัตถุประสงค์หลักสู่การบริหารจัดการน้ำเป็นสำคัญ ให้ประเด็นความต้องการไฟฟ้าเป็นประเด็นรอง และการพัฒนาพื้นที่ 2  ฝั่งน้ำร่วมกันเป็นประเด็นเสริม  อีกทั้งส่งเสริมให้มีกระบวนการ ให้เป็นความร่วมมือรัฐต่อรัฐ ตั้งแต่เมือง-จังหวัด เพื่อเสนอเป็นที่สุดในระดับความเห็นชอบของ ครม.หรือรัฐสภา ของแต่ละฝ่ายเป็นที่สุด




สถานการณ์การท่องเที่ยวแบบเมืองโบราณของอำเภอเชียงคาน กำลังเป็นเมืองพัฒนาด้านการท่องเที่ยว-การลงทุน ที่มีรายได้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น  ดังนั้น จึงข้อเสนอให้เกิดความร่วมมือกัน ระหว่างหัวเมืองสองประเทศ ไปสู่ความร่วมมือทางนวัตกรรม และการบริหารจัดการน้ำที่นำไปสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และพัฒนากติกาต่างๆสู่ต้นแบบความร่วมมือพิเศษให้เป็นมรดกโลกทางนวัตกรรม วิถีชีวิตในที่สุด แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้  คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC)  ระบุว่า เขื่อนสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ขนาด 684 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจะมีความยาว 350 เมตร สูง 58 เมตร กังหันผลิตไฟฟ้า 12 ตัว ตั้งอยู่ในเมืองสานะคาม ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดเลย 2 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท (2,073 ล้านดอลลาร์ ) โดยโครงการจะใช้เงินประมาณ 870 ล้านบาท (27.2 ดอลลาร์) ในการบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รับผิดชอบโครงการโดย บริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท ต้าถัง รัฐวิสาหกิจของจีนวางแผนว่า จะส่งไฟฟ้ามาขายให้กับประเทศไทยเป็นหลัก.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น