เมื่อช่วงเช้าตรู่วันที่ 5 มิถุนายน
2563 ที่หน้าวัดศรีคุณเมือง
ถนนชายโขง อ.เชียงคาน จ.เลย
นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และนายภูมิวัจน์ โชตินพรัตน์
นายอำเภอเชียงคาน
นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนร่วมกันตักบาตรข้าวเหนียว โดยการตักบาตรครั้งนี้
ชาวบ้านได้นำใบตองที่ทำความสะอาดแล้วมาห่อข้าวเหนียวเป็นก้อนก่อนใส่บาตร
เพื่อป้องกันการสัมผัสจากมือที่อาจจะมีเชื้อโรคโควิด-19
ตามมาตรการของทางราชการที่กำหนดไว้ด้วย
ซึ่งการตักบาตรข้าวเหนียวเป็นประเพณีที่ชาวเชียงคานสืบทอดกันมาตั้งโบราณกาล
โดดเด่นจนกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบเมื่อได้มาเยือนชุมชนบ้านไม้เก่าแห่งนี้ โดยจะไม่มีการใส่อาหาร น้ำดื่ม เงิน
หรือดอกไม้ในบาตรหลังจากการตักบาตรแล้ว
ชาวบ้านจะนำอาหารหรือกับข้าวตามไปถวายพระที่วัด หรือเรียกว่า จังหัน
นางสาวเบญจมาภรณ์ ฉัตร์คำ
ประธานชมรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเมืองเชียงคาน กล่าวว่า
การใส่บาตรข้าวเหนียวครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวตามวิถีท้องถิ่นเชียงคาน
เพื่อเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
จัดโดยชมรมฯร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
(อพท.) ระหว่างวันที่ 2-4 มิถุนายน
2563
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวตามวิถีท้องถิ่นของคนเชียงคาน , เพื่อเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
, เพื่อสืบสานนุรักษ์ และเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของชาวเชียงคาน
นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนัก
และความรู้ที่ถูกต้องของวัฒนธรรมการใส่บาตรของคนเชียงคานให้กับผู้ประกอบการที่จำหน่วยชุดตักบาตรข้าวเหนียวบริเวณ
ถนนคนเดิน , เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมในท้องถิ่นของชาวเชียงคาน , เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนเชียงคาน
และเพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้ร่วมกิจกรรมการตักบาตรข้าวเหนียวตามวิถีชาวเชียงคาน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรม
เป็นกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายชุดตักบาตรและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 35 คน แบ่งออกเป็น 3 วันๆละ 12 และ 11 คน
โดยมีนักวิชาการด้านการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย รองประธานหอการค้าเลย พระสงฆ์
วัฒนธรรมจังหวัด
และอดีตวัฒนธรรมจังหวัด
มาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม
โดยได้นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
(GSTC) มาใช้เป็นแนวทางการพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหาการทำบุญตักบาตรข้าวเหนียว
เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ (ตำบลเชียงคาน)
ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)
เพื่อมุ่งสู่รางวัล TOP 100
นายวีรภัทร์ หาญถนอม ผู้บริหารร้านเฮือนหลวงพระบาง รองประธานหอการค้าจังหวัดเลย กล่าวว่า
การตักบาตรข้าวเหนียวของเชียงคานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป
เพื่อตอบสนองความสะดวกของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนมาก
กลายเป็นเชิงอุตสาหกรรม ของที่นำมาใส่บาตร เป็นอาหารสำเร็จรูปประเภท
ขนมและเครื่องดื่ม น้ำหวานต่างๆ แต่การตักบาตรข้าวเหนียวแบบดั้งเดิมก็ยังมีอยู่
โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
แต่เริ่มเลือนหายไป
เราจึงต้องมาช่วยกันนำเอาประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงคานให้กลับคืนมา อนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป
หากเชียงคานยังตักบาตรที่ขายเป็นชุดให้นักท่องเที่ยวเช่นนี้
ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างจากที่อื่น
“นักท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลจากกรุงเทพมาตักบาตรที่เชียงคาน
เพราะที่กรุงเทพหรือที่ไหนๆก็มีเหมือนกัน
ดังนั้น ชาวเชียงคานจะต้องมาคุยกัน ว่าจะทำอย่างไรให้การตักบาตรข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียวมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
แต่ขายได้ในราคาชุดละ 60 บาท หรือ 100 บาท ได้เหมือนเดิม
อาจจะมีการเติมแต่งสีสันใส่เข้าไปในข้าวเหนียว โดยสีธรรมชาติ เช่น สีม่วงจากดอกอัญชัน สีส้มจากฟักข้าว หรือสีดำ หรือม่วงจากข้าวก่ำ
หรือไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นสมุนไพรมีผลดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรด้วย” นายวีรภัทร์กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากอบรมตามโครงการดังกล่าว
ผู้ประกอบการจำหน่ายชุดใส่บาตรและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชียงคานได้กำหนดปฏิญญาเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันว่า หลังจากนี้ จะไม่มีการจัดชุดใส่บาตรเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว
ที่มีอาหารสมัยใหม่ เช่น ขนม และเครื่องดื่มน้ำหวาน แต่จะมีข้าวเหนียวเพียงอย่างเดียว
กระติบใหญ่ขึ้น มีประมาณให้เหมาะสมกับราคา 100 บาท หรือชุดละ 60 บาท
โดยจะห่อใบตองเพื่อให้ดูสวยงามและสะอาด ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมจัดชุดเครื่องแต่งกายสำหรับใส่บาตร
พร้อมปูเสื่อให้แก่นักท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันจะมีการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงประเพณีตักบาตรข้าวเหนียวของเชียงคานที่มีคุณค่า
ต่างจากที่อื่นอย่างแท้จริง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น