วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563

'แม่ญิง'เชียงคานกว่า 1 พันคน สามัคคีพร้อมใจรำบวงสรวงเจ้าเมืองปากเหืองคนสุดท้าย นอภ.เชียงคานคนแรก (ชมคลิป)


เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓  (๙/๙/๖๓)  ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงคาน  จ.เลย  นายภูริวัจน์  โชตินพรัตน์  นายอำเภอเชียงคาน  นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในอำเภอเชียงคาน  ประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาศรีอรรคฮาต  เจ้าเมืองปากเหืองคนสุดท้าย และนายอำเภอเชียงคานคนแรก  โดยมีการรำบวงสรวงโดยสุภาพสตรีในอำเภอเชียงคานกว่า ๑,๒๐๐ คน ประกอบเพลงที่เขียนขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ  ซึ่งอำเภอเชียงคานได้นำรูปปั้นของพระยาศรีอรรคฮาตมาประดิษฐาน ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงคาน เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒



เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้ ระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้ปกครองเมืองเชียงคานอย่างสงบ ร่มเย็น ผาสุข และมีความเจริญรุ่งเรือง  โดยเฉพาะในห้วงที่เกิดข้อพิพาทสยามกับฝรั่งเศส  พระยาศรีอรรคฮาต เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทมั่นคงถึงฝรั่งเศสจะเกลี้ยกล่อมหรือเบียดเบียนอย่างไร ก็มีความสวามิภักดิ์ มั่นคงมิได้แปรผันจนตลอดยุคกาลอริกับฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์ของพระยาศรีอรรคฮาต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีอรรคฮาต


ทั้งนี้  จากการศึกษาค้นคว้าของนายธีระวัฒน์ แสนคำ  อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ระบุว่า พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๖ สันนิษฐานว่าบุตรของพระศรีอรรคฮาต เจ้าเมืองปากเหือง ซึ่งขึ้นกับเมืองพิชัย เดิมพระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) คงรับราชการเป็นท้าวเพี้ยกรมการเมืองปากเหือง ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปฮาดเมืองปากเหืองในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งอุปฮาดเมืองปากเหือง พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ยังนำไพร่พลเมืองปากเหืองร่วมปราบฮ่อที่ยกลงมาทางเมืองปากเหืองและบริเวณใกล้เคียงในระหว่าง พ.ศ.๒๔๑๙-๒๔๒๑




ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๒๕ เอกสารจดหมายเหตุระบุว่า พระศรีอรรคฮาต เจ้าเมืองปากเหือง ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง เนื่องด้วยความชราว่าราชการรักษาบ้านเมืองต่อไปไม่ได้ บรรดาท้าวเพี้ยกรมการเมืองปากเหืองจึงมีใบบอกไปยังพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้สำเร็จราชการเมืองพิชัยเพื่อขอให้แต่งตั้งอุปฮาด (ทองดี) เป็นที่เจ้าเมืองแทน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นว่าเมืองปากเหืองอยู่ปลายเขตแขวงเมืองพิชัยต่อกับแขวงเมืองพวนต้องสืบสวนราชการอยู่เนืองๆ จะให้ตำแหน่งเจ้าเมืองขาดว่างอยู่นั้นไม่ชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอุปฮาดเมืองปากเหือง (ทองดี) เป็นพระศรีอรรคฮาต เจ้าเมืองปากเหือง เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๕

ข้อความในเอกสารจดหมายเหตุยังระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ สัปทนแพรหรินแดงคัน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าม่วงจีนผืนหนึ่ง แพรขาวห่มเพลาะ ๑ เป็นเครื่องยศบรรดาศักดิ์อีกด้วย



ต่อมาสันนิษฐานว่ามีการเปลี่ยนชื่อเมืองปากเหืองมาเป็นเมืองเชียงคาน ในช่วงประมาณระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๖-๒๔๒๘ เนื่องจากเอกสารจดหมายเหตุที่พบในช่วงหลัง พ.ศ.๒๔๒๘ ได้เรียกชื่อเมืองเชียงคานแทนเมืองปากเหืองแล้ว และเรียกชื่อพระศรีอรรคฮาต (ทองดี) ว่าเป็นเจ้าเมืองเชียงคานแล้ว ทั้งนี้คงเป็นเพราะราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณปากเหืองอย่างแต่ก่อนแล้ว หากแต่ย้ายมาอยู่ริมฝั่งโขงบริเวณตรงข้ามเมืองเชียงคานเก่าที่ถูกกองทัพเมืองน่านเผาทำลายเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๐ ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เป็นอย่างน้อยแล้ว

ในการทำสงครามปราบฮ่อครั้งสุดท้าย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๒๘-๒๔๓๐ พระศรีอรรคฮาต (ทองดี) พร้อมด้วยผู้ช่วย อุปฮาดและท้าวเพี้ยเมืองเชียงคาน  ได้คุมกำลังไพร่พลเมืองเชียงคานขึ้นไปรักษาราชการที่เมืองงอย ทางตอนเหนือของเมืองหลวงพระบาง ภายใต้การคุมทัพของเจ้าหมื่นไวยวรนาถ (ภายหลังคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เจิม แสง-ชูโต) การทำสงครามปราบฮ่อครั้งนี้ พระศรีอรรคฮาต (ทองดี) และท้าวเพี้ยกรมการเมืองเชียงคานมีบทบาทในการช่วยเหลือราชการทัพและมีความชอบเป็นอย่างมาก

มีความเป็นไปได้มากว่าพระศรีอรรคฮาต (ทองดี) น่าจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ “พระยา” เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ เนื่องจากในปีดังกล่าวราชกิจจานุเบกษาระบุว่า พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ช้างเผือก ชั้นที่ ๓ นิภาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๔๒ และปรากฏข้อความการเรียกชื่อ “พระยาศรีอรรคฮาต” ในราชกิจจานุเบกษาในปีดังกล่าว ซึ่งเป็นปีที่พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ได้เดินทางลงไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ในขณะที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อ “พระยาศรีอรรคฮาต” แต่อย่างใด ในขณะเดียวกันก็มีการเรียกตำแหน่งพระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ว่ามีตำแหน่งเป็น “ผู้ว่าราชการเมืองเชียงคาน” อีกด้วย

พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ได้ว่าราชการรักษาบ้านเมืองเชียงคานให้เป็นไปตามธรรมเนียมภายใต้การกำกับของเมืองพิชัย ถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษ-สารทก็ได้นำท้าวเพี้ยกรมการเมืองเชียงคานไปร่วมพิธีกระทำสัตยานุสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒสัจจา ณ พระอารามที่เมืองพิชัยปีละ ๒ ครั้งไม่เคยขาด สร้างวัดโพนชัยขึ้นทางตอนเหนือของตัวเมือง เพื่อรองรับการขยายครัวเรือนของราษฎรมาทางทิศตะวันตกเมื่อราว พ.ศ.๒๔๔๒ โดยย้ายโฮงหรือจวนเจ้าเมืองอันเป็นที่ใช้ว่าราชการเมืองด้วยมาอยู่ใกล้กับวัดโพนชัยซึ่งคือบริเวณโรงเรียนอนุบาลเชียงคาน ปทุมมาสงเคราะห์ในปัจจุบัน และขอจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทย-เลขลูกคิดขึ้นภายในเมืองเชียงคานเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๐ ดังปรากฏข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา จนทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นรับสั่งถึงพระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ในคราวย้ายเมืองเชียงคานมาขึ้นกับมณฑลอุดรว่า “พระยาศรีอรรคฮาตผู้ที่เป็นคนเก่าซื่อตรงจงรักภักดี และมีความชอบมาแต่ก่อน

ใน พ.ศ.๒๔๕๔ กระทรวงมหาดไทยได้พบปัญหาว่าเมืองเชียงคานซึ่งขึ้นกับเมืองพิชัยในมณฑลพิษณุโลกนั้น การเดินทางไปมาระหว่างกันค่อนข้างไกลและลำบาก ทำให้การดูแลความสงบเรียบร้อยในเมือง การควบคุมการค้าฝิ่นเถื่อนทำได้ยาก พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ก็แก่ชราลงมาก อีกทั้งที่ตั้งเมืองเชียงคานอยู่ใกล้กับจังหวัดเมืองเลย มณฑลอุดรมากกว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงขอพระราชทานกราบบังคมพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เพื่อย้ายเมืองเชียงคานมาขึ้นกับจังหวัดเมืองเลย มณฑลอุดร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุญาตตามประกาศกระทรวงมหาดไทยวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๕๔ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๕๔



การย้ายเมืองเชียงคานมาขึ้นกับจังหวัดเมืองเลยใน พ.ศ.๒๔๕๔ ทำให้เมืองเชียงคานถูกลดฐานะจาก “เมืองเชียงคาน” มาเป็น “อำเภอเมืองเชียงคาน” และพระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเชียงคานก็ได้มีตำแหน่งเป็น “ผู้ว่าราชการอำเภอเมืองเชียงคาน” ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับนายอำเภอตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงคานคนสุดท้าย และเป็นนายอำเภอเชียงคานเป็นคนแรก

ทั้งนี้ เหตุที่กล่าวว่าในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นปีที่ยุบเมืองเชียงคานเป็นอำเภอเชียงคานนั้น ด้วยเอกสารราชการต่างๆ ในปีถัดได้ระบุชื่อ “อำเภอเชียงคาน” แทนชื่อเมืองเชียงคาน เช่น เอกสารราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๕๕ ระบุว่ามีการตัดทางจากเมืองเลยมายังอำเภอเชียงคาน เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ราษฎร เป็นต้น ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสถานะจากเมืองเชียงคานมาเป็นอำเภอเชียงคาน ก็ได้มีการใช้โฮงหรือจวนของพระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) เป็นที่ว่าราชการอำเภอหรือที่ว่าการอำเภอเชียงคานเรื่อยมาจนถึงประมาณ พ.ศ.๒๔๘๔ จึงมีการย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอเชียงคานในปัจจุบัน

เอกสารราชกิจจานุเบกษาระบุว่า พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ถึงแก่กรรมด้วยอาการป่วยเป็นไข้ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๖ สิริรวมอายุ ๗๐ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานหีบเพลิงมาพระราชทานเพลิงศพพระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๖ ในการนี้ยังได้พระราชทานเงิน ๑๐๐๐ สตางค์ และผ้าขาว ๒ พับ มาพร้อมหีบเพลิงด้วย


พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) สมรสกับเจ้าแม่คำผิว  มีบุตร-ธิดาจำนวน ๖ คน คือ ท้าวสัมฤทธิ์ (อดีตอุปฮาตเมืองเชียงคานคนสุดท้าย), เจ้าแม่เจียงคำ, เจ้าแม่บุญเที่ยง, เจ้าแม่บุนนาค, เจ้าแม่อินกอง และท้าวบัวรส นอกจากนี้ พระยาศรีอรรคฮาต (ทองดี) ยังถือเป็นต้นสกุล “ศรีประเสริฐ” อีกด้วย.





x

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น