วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กมธ.ที่ดิน-สิ่งแวดล้อม ส.ส. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าฟื้นฟูเหมืองทองทุ่งคำ



เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน  2563  ที่ห้องประชุมชั้น ศาลากลางจังหวัดเลย  นายอภิชาติ  ศิริสุนทร  ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สภาผู้แทนราษฎร  นำคณะ ประกอบด้วย นายสมชาย ฝั่งชลจิตร  นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง รองประธานกรรมาธิการ    รวมถึงนักวิชาการที่ปรึกษากรรมาธิการอาทิ รองศาสตราจารย์เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์   ได้เดินทางมาประชุมร่วมกับนายชัยธวัช  เนียมศิริ  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พ.อ.สมหมาย  บุษบา  รองผู้อำนวยการ รมน.จ.เลย  และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกรณีการทำเหมืองแร่ทองคำ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยที่อาจส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งชุมชนโดยรอบเหมือง หลังจากที่รับการร้องเรียนจากชาวบ้านกลุ่มคนรักบ้านเกิด

  

นางวิรอน  รุจิไชยวัฒน์  ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด  6 หมู่บ้าน  กล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรรมาธิการฯว่า  ขณะนี้ทางกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน   ได้จัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน ที่เสนอโดยภาคประชาชน  ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย (ฉบับปรับปรุงปี 2562 ซึ่งแผนการฟื้นฟูฉบับดังกล่าวนี้มีกระบวนความร่วมมือที่หลากหลายเพื่อที่จะช่วยจัดการให้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่ถูกทำลาย กลับมาฟื้นฟูประชาชนสามารถพึ่งพิงใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกล่วงละเมิดในระหว่างการดำเนินการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมา  





นายสุรพันธ์  รุจิไชยวัฒน์   ตัวแทนคนรักษ์บ้านเกิด  6 หมู่บ้าน  กล่าวว่า เป้าหมายแผนการฟื้นฟูของภาคประชาชนเพิ่มเติมว่า  ภาคประชาชนได้กำหนดแผนการฟื้นฟูระยะเวลาทั้งหมด 25 ปี  โดยมีจุดฟื้นฟูที่สำคัญ ในหลากหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบาย  ที่ต้องหยุดการทำเหมือง หรือการขยายเปิดพื้นที่เหมืองแห่งใหม่เพื่อไม่เข้าไปรบกวนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเด็ดขาด โดยต้องเร่งทำทันที การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพอย่างเร่งด่วน โดยติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยมีโลหะหนักต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล  การตรวจคัดกรองผู้ที่ความเสี่ยงในพื้นที่ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองจนกว่าจะไม่พบผู้ที่มีโลหะหนักปนเปื้อน รวมทั้งฟื้นฟูแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ปนเปื้อนตามฝั่งร่องห้วยเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมได้ตามเดิม  





นอกจากนี้แล้วจะต้องมีการฟื้นฟูภายในเขตประทานบัตร กำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษซึ่งเป็นต้นเหตุของการปนเปื้อนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยการฟื้นฟูความเสียหายทางกายภาพ,แหล่งน้ำผิวดิน,แหล่งน้ำใต้ดิน, ตะกอนหน้าดินป้องกันการกระจายการปนเปื้อนหยุดการรั่วต้นกำเนินของการปนเปื้อน บริเวณบ่อเก็บกากแร่,กองหินทิ้ง,ขุมเหมืองภูทับฟ้า,ขุมเหมืองภูซำป่าบอน และโรงแต่งแร่ เป็นต้น” นางวิรอนระบุ   
 


ขณะที่ น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์  กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา  กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูของภาคประชาชนนั้นเราได้เขียนแผนการฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และชดเชยการกระทำละเมิดต่าง ๆ จากการทำเหมืองที่ผ่านมา ด้วยการ สื่อสารทำความเข้าใจกับสาธารณะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษชนกรณีเหมืองแร่ทองคำที่ผ่านมา สื่อสารปัญหาและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และในส่วนการฟื้นฟูสิทธิชุมชนและกระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่สำคัญ  ซึ่งเราจะปรับภูมิทัศน์เป็นแหล่งเรียนรู้ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ เช่น อุทยานผลกระทบจากเหมืองแร่ โดยต้องมีการบำบัดสารพิษให้มีความปลอดภัยในระดับมาตรฐานและไม่ให้รกร้าง สามารถให้คนข้างนอกมาศึกษาเรียนรู้ได้  




“และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างกลไกและกระบวนการติดตามตรวจสอบการดำเนินการฟื้นฟูฯ 
อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยจัดตั้งคณะกรรมการ 6 หมู่บ้าน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของการฟื้นฟูการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องเพื่อการติดตามแผนฟื้นฟู และประเมินผล โดยมีหน้าที่ควบคุมตามแผนและเสนอเพิ่มเติมได้  โดยต้องได้รับการรายงานหรือการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ได้ทุก 1,3,6 เดือน และสรุปความคืบหน้าทุก 1 ปี ซึ่งแผนการฟื้นฟูทั้งหมดนี้เราได้นำเสนอต่อจังหวัดแล้ว และจังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมภายในและบริเวณโดยรอบเหมือแร่ทองคำ บริษัททุ่งคำจำกัด และถึงแม้จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยประชุมหรือหยิบยกเรื่องแผนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ระบบ นิเวศ สังคม วัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชุมชน ที่เสนอโดยภาคประชาชน เข้าไปหารือเลยสักครั้ง และกรอบการทำงานของคณะกรรมการก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินเมื่อไหร่และจะดำเนินการในรูปแบบไหน วันนี้จึงอยากให้คณะกรรมาธิการผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูตามแผนของภาคประชาชนด้วย” ตัวแทนฅนรักษ์บ้านเกิด  6 หมู่บ้านกล่าว


ซึ่งภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้หารือผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชเสร็จสิ้นแล้ว  ในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานผลของการทำเหมืองแร่ทองคำที่ ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โดยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด  6 หมู่บ้านมาให้การต้อนรับกรรมาธิการ   



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น